คมนาคม กำชับ "รฟม.-ผู้รับสัมปทาน" ตรวจสอบให้ละเอียดเพิ่มความถี่ซ่อมบำรุงกันเกิดเหตุซ้ำ ขออภัยผู้ใช้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงนี้ต้องรอรถรอบละไม่ต่ำกว่า 30-55 นาที และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือวิ่งให้บริการรอบละ 5 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน ในวันที่ 6 ม.ค. นี้
จากเหตุกรณีล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตกจากราง บริเวณถนนเทพารักษ์ กม.3 ช่วงระหว่างสถานีศรีเทพา และสถานีศรีด่าน จ.สมุทรปราการ ทำให้รถแท็กซี่ที่วิ่งผ่านได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังจากเกิดเหตุดังกล่าวว่า รฟม. และผู้รับสัมปทาน ร่วมกับบริษัท Alstom ผู้ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรลที่ใช้ในโครงการฯ ได้เข้าตรวจสอบสาเหตุพบว่า ล้อประคองที่หลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้า เกิดจากข้อบกพร่อง (Defect) ของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งให้ห้องปฏิบัติการ ตรวจสอบสาเหตุเชิงลึกทางวิศวกรรมแล้ว อาจต้องรอผลการตรวจสอบอีกระยะหนึ่งจึงจะได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม ล้อดังกล่าวมีอายุการใช้งานประมาณ 300,000 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันเพิ่งใช้งานไปได้เพียงประมาณ 62,000 กิโลเมตร คิดเป็น 20% เท่านั้น และผู้รับสัมปทานได้มีการซ่อมบำรุง (Maintenance) ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดในคู่มือแล้ว ซึ่งจากนี้ไปกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ผู้รับสัมปทาน เพิ่มความถี่ในการซ่อมบำรุงให้มากขึ้น
นอกจากนี้ รฟม. ร่วมกับผู้รับสัมปทาน และบริษัทผู้ผลิต ได้ดำเนินการตรวจสอบรถไฟฟ้าทุกขบวน ทุกล้อ และลูกปืนโดยละเอียด ก่อนจะทยอยนำขบวนเข้ามาวิ่งให้บริการในระบบอีกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีก
เนื่องจากอุบัติเหตุทั้งกรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ล้วนเป็นรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว หรือโมโนเรล ที่นิยมใช้ในประเทศที่มีสภาพอากาศเย็น จึงสั่งให้รวบรวมชิ้นส่วนที่เกิดเหตุ ส่งเข้าห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรมในต่างประเทศ เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ ทั้งความทนทานในสภาพอากาศร้อน ความชื้นและการวิ่งให้บริการระยะทางต่อเนื่อง ก่อนพิจารณาว่า รถไฟโมโนเรลยังเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ผู้ใช้บริการอาจต้องรอรถรอบละไม่ต่ำกว่า 30-55 นาที เนื่องจาก มีรถพร้อมให้บริการ เพียง 5 ขบวน โดยรถจะทยอยเข้าระบบเพิ่มขึ้น กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือวิ่งให้บริการรอบละ 5 นาที ในชั่วโมงเร่งด่วน ในวันที่ 6 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
"เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร โดยกระทรวงคมนาคมยังคงมีความตั้งใจ ที่จะส่งเสริมให้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สำหรับประชาชน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน" นายสุรพงษ์ ระบุ