svasdssvasds

ซินหัว ประมวล "10 ข่าวรอบโลก" แห่งปี 2023 ที่น่าสนใจ เรียงตามลำดับเวลา

ซินหัว ประมวล "10 ข่าวรอบโลก" แห่งปี 2023 ที่น่าสนใจ เรียงตามลำดับเวลา

สำนักข่าว "ซินหัว" องค์กรสื่อสารมวลชนระดับชาติ ได้ประมวล "10 ข่าวรอบโลก" แห่งปี 2023 เรียงตามลำดับเวลา มีประเด็นไหนน่าสนใจ เช็กรายละเอียดได้ที่นี่

สำนักข่าวชินหัวเป็นองค์กรสื่อสารมวลชนระดับชาติ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อตั้งเมื่อปี 1931 ปัจจุบันเป็นสำนักข่าวระดับโลกที่มีสำนักงานสาขาและผู้สื่อข่าวกระจายอยู่ในทุกเมืองของประเทศจีนและหลายประเทศทั่วโลก สำนักข่าวชินหัวมีการรายงานข่าวเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเชีย ญี่ปุ่น

สำนักข่าวซินหัวประมวล "10 ข่าวรอบโลก" แห่งปี 2023 (เรียงตามลำดับเวลา)

1. "ปัญญาประดิษฐ์นักสร้าง" เร่งรัดการเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรม

จำนวนผู้ใช้งาน "แชทจีพีที" (ChatGPT) ซึ่งเป็นแชทบอทหรือโปรแกรมโต้ตอบการสนทนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สูงแตะ 100 ล้านรายในเดือนมกราคม โดย "ปัญญาประดิษฐ์นักสร้าง" หรือเจเนเรทีฟ เอไอ (Generative AI) อย่าง

แชทจีพีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเครื่องมือที่เข้ามาปฏิวัติวงการนี้มีความเก่งกาจในการทำงานอย่างการสร้างสรรค์เนื้อหาบรรดายักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีจากหลายประเทศกำลังแข่งขันกันทุ่มลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และเร่งการบูรณาการผลิตภัณฑ์ของตนเองเข้ากับการประยุกใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยปัญญาประดิษฐ์ในฐานะพลังขับเคลื่อนสำคัญของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรมรอบใหม่นั้นนำมาซึ่งโอกาสมากมายและจะเร่งการปรับโฉมของหลายอุตสาหกรรม ทว่าขณะเดียวกันนำมาซึ่งความเสี่ยงและความท้าทายที่มิสามารถคาดการณ์ได้

ทั้งนี้ จีนได้ผลักดัน "แผนริเริ่มการกำกับควบคุมปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก" (Global AI Governance Initiative) เพื่อนำเสนอแนวทางของจีนในการกำกับควบคุมปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก

 

2. แผ่นดินไหวครั้งหายนะในตุรกีและซีเรีย สร้างความสูญเสียสุดเลวร้าย

ภูมิภาคตอนใต้ของตุรกี (ทูร์เคีย) ใกล้กับพรมแดนซีเรียเผชิญเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 7.7 ตามมาตราแมกนิจูด เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ตามด้วยเหตุอาฟเตอร์ช็อกหรือแผ่นดินไหวตามอย่างต่อเนื่อง ภัยพิบัติดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในตุรกีมากกว่า 50,000 ราย และในซีเรียมากกว่า 1,000 ราย ขณะเดียวกันโมร็อกโก อัฟกานิสถาน เนปาล และประเทศอื่นๆ ได้เผชิญเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในปีนี้เช่นกัน ซึ่งสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก

ทั้งนี้ จีนได้จัดส่งทีมกู้ภัยไปยังตุรกีทันทีหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเพื่อพยายามช่วยชีวิตผู้คนอย่างสุดกำลังความสามารถ พร้อมจัดสรรความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมฉุกเฉินหลายรอบแก่กลุ่มประเทศที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์แนวคิดการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน

 

3. ข้อตกลงซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน ภายใต้การไกล่เกลี่ยโดยจีน กระตุ้นความปรองดองในตะวันออกกลาง

ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ณ กรุงปักกิ่ง ภายใต้การไกล่เกลี่ยของจีน เมื่อวันที่ 10 มี.ค. เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตที่ตัดขาดกันมานานถึง 7 ปี โดยทั้งสองประเทศได้ฟื้นคืนสายสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน

ทั้งสองประเทศได้จับมือกันสร้างสันติภาพ ซึ่งกระตุ้นความปรองดองในหมู่ประเทศตะวันออกกลาง โดยหลายเดือนต่อมา ซีเรียกลับเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ ขณะอียิปต์และตุรก็ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระดับเอกอัครราชทูต

นอกจากนั้นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และประเทศอื่นๆ ได้ดำเนินการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกาตาร์ให้กลับสู่สภาวะปกติด้วย ทิศทางการผ่อนปรนความตึงเครียด ตลอดจนการแสวงหาการพัฒนาและความร่วมมือในหมู่ประเทศตะวันออกกลาง บ่งชี้ว่าการแก้ไขข้อพิพาทและความแตกต่างผ่านการเจรจาหารือนั้นสอดคล้องกับความปรารถนาของประชาชน กระแสธารแห่งยุคสมัย และผลประโยชน์ของทุกชนชาติ

4. แนวคิด "ลดความเสี่ยง" ทวีความรุนแรงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกช่วงเดือนมีนาคม

นักการเมืองตะวันตกบางส่วนนำเสนอแนวคิด "ลดความเสี่ยง" ขยับขยายตรรกะ "แยกตัว" และหลักการ "ลานเล็ก รั้วสูง" ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขัดกับกฎหมายทางเศรษฐกิจและสวนกระแสการพัฒนาแห่งประวัติศาสตร์ รวมถึงปฏิเสธโอกาส ความร่วมมือ เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยิ่ง

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกผจญกับสารพัดความท้าทายที่ขัดขวางกระบวนการฟื้นตัว โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบก้าวกระโดดต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เพิ่มความเสี่ยงในภาคการธนาคารของอเมริกาและยุโรปอย่างมาก นำสู่การบั่นทอนสภาพคล่องทั่วโลกและเพิ่มความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

สหรัฐฯ ได้เดินหน้านโยบายทางอุตสาหกรรมเชิงกีดกันทางการค้า เช่น กฎหมายลดเงินเฟ้อ และกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วแห่งอื่นๆ ทำตาม ซึ่งลดทอนเสถียรภาพของห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทาน

ระหว่างประเทศ โดยการใช้เศรษฐกิจและการค้ามาสร้างประเด็นทางการเมืองและเป็นอาวุธของสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกบางส่วนกำลังสร้างความเสียหายแก่ตลาดโลก และฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำยิ่งขึ้น

5. การสนับสนุนลัทธิพหุภาคีของ "โลกใต้"

วันที่ 24 ส.ค. กลไกความร่วมมือกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS ได้ต้อนรับหลายประเทศ ทั้งซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน และเอธิโอเปีย เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ และวันที่ 9 ก.ย. สหภาพแอฟริกาได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม G20 อย่างเป็นทางการ

ปัจจุบันความเข้มแข็งของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการผงาดขึ้นมาแบบหมู่คณะของโลกใต้ (Global South) กลายเป็นทิศทางอันมิอาจสวนคืน โดยการพัฒนาอันป็นเอกภาพ สอดประสาน และร่วมด้วยช่วยกันคือความปรารถนาอันแรงกล้า

ทั้งนี้ จีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่สุดถือเป็นสมาชิกโลกใต้ด้วยเช่นกัน พร้อมคุ้มครองผลประโยชน์ร่วมของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างแน่วแน่ รวมถึงส่งเสริมการเป็นตัวแทนและกระแสสียงของกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในกิจการโลกเพิ่มขึ้น

6. ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ท่ามกลางกระแสคัดค้าน

วันที่ 24 ส.ค. ญี่ปุ่นเริ่มต้นปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุซิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แม้มีการตั้งคำถามเป็นวงกว้างจากนานาชาติและการคัดค้านอย่างหนักจากหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง ญี่ปุ่นได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ในปีนี้ จำนวน 3 รอบ ปริมาณรวมมากกว่า 23,000 ตัน โดยการปล่อยน้ำปนเปื้อน

ทั้งหมดจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งการปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนี้กอปรกับผลกระทบทางทะเลที่อาจเกิดขึ้น ได้จุดกระแสวิตกกังวลเป็นวงกว้างทั่วโลก

การปล่อยน้ำปนเปื้อนนี้มิใช่เรื่องส่วนตัวของญี่ปุ่น แต่เกี่ยวพันกับสุขอนามัยส่วนรวมของมวลมนุษยชาติ ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางทะเลและประโยชน์สาธารณะทั่โลก โดยญี่ปุ่นควรจัดการกับข้อวิตกกังวลอันชอบธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างจริงจัง พร้อมกับจัดการประเด็นน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าฯ อย่างมีความรับผิดชอบและสร้างสรรค์

7. ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตอกย้ำความสับสนอลหม่านทวีความรุนแรงทั่วโลก

ความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ปะทุขึ้นมาในวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตมากกว่า 20,000 ราย นำสู่การเกิดวิกฤตทางมนุษยธรรมครั้งร้ายแรง ขณะเดียวกันมีชาวอิสราเอลเสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

นานาชาติยังคงเรียกร้องการปกป้องพลเรือนและยุติการสู้รบ โดยแนวทางพื้นฐานของการแก้ไขความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ปะทุขึ้นมาบ่อยครั้งนั้นอยู่ที่การดำเนินการตามแนวทางสองรัฐ การฟื้นฟูสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนชาวปาเลสไตน์ และการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์อิสระ

นับตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้ วิกฤตยูเครนถูกเตะถ่วงให้ยืดเยื้อ ความขัดแย้งทางอาวุธเกิดขึ้นในซูดาน และมีการรัฐประหารในไนเจอร์และกาบอง โดยความขัดแย้งระดับท้องถิ่นและสมรภูมิร้อนระดับภูมิภาคยังคงปะทุคุกรุ่น และสถานการณ์ระหว่างประเทศกำลังมีความผันผวนเพิ่มขึ้น

8. ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูงเปิดบทใหม่

ความสำเร็จของการจัดประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในวันที่ 18 ต.ค. ถือเป็นหมุดหมายอันมีนัยสำคัญ โดยสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ พิธีเปิดและประกาศ 8 ขั้นตอนสำคัญเพื่อสนับสนุนความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูง

การประกาศดังกล่าวได้กำหนดทิศทางใหม่ เปิดกว้างวิสัยทัศน์ใหม่ และอัดฉีดแรงกระตุ้นใหม่สู่ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ขณะช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นานาประเทศมากกว่า 150 แห่ง และองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 30 แห่งได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง

โครงการต่างๆ จำนวนมากได้ลงหลักปักฐาน กรุยวิถีทางสู่การพัฒนาร่วมกัน ความร่วมมือ โอกาส และความเจริญรุ่งเรือง โดยแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สาธารณะระหว่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและเวทีเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

9. การทูตสีจิ้นผิง (Xiplomacy) เขียนบทใหม่ของการทูตจีน

วันที่ 15 พ.ย. สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบปะกับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งมีการกำหนดวิสัยทัศน์ซานฟรานซิสโกอันมุ่งมั่นสู่ความก้าวหน้า

ปีนี้ สีจิ้นผิงได้เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ เป็นประธานการประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลาง ครั้งที่ 1 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์ในแอฟริกาใต้ และเยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในนครซานฟรานซิสโก เดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ หารือและส่งสารและจดหมายถึงเหล่าผู้นำประเทศและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงเขียนจดหมายและตอบจดหมายของเยาวชนและประชาชนจากหลายมิตรประเทศ

การทูตประเทศขนาดใหญ่อันมีลักษณะพิเศษของจีนภายใต้การชี้นำของแนวคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยการทูต (Xi Jinping Thought on Diplomacy) ยังคงดำเนินต่อไปบนการเดินทางครั้งใหม่ พร้อมส่งเสริมแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) แผนริเริ่มความมั่นคงระดับโลก (GSI) และแผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) อย่างมีนัยสำคัญ โดยความพยายามนี้ได้อัดฉีดแรงกระตุ้นสู่การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ

10. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีภัยคุกคามการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

วันที่ 30 พ.ย. องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศว่าปี 2023 เป็นปีที่มีสภาพอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงของภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วมในลิเบีย และไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดในฮาวาย โดยสภาพอากาศสุดขั้วอย่างคลื่นความร้อนช่วงฤดูร้อนกลายเป็นความปกติใหม่ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลก รวมถึงฉุดรั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกือบทั้งหมด

"ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลง พร้อมกับการมาถึงของยุคโลกเดือด" อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว

การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติในนครดูไบได้บรรลุฉันทามติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในหลายประเด็น อาทิ การประเมินผลข้อตกลงปารีสในระดับโลกครั้งแรก การสูญเสียและความเสียหาย และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ซึ่งส่งสัญญาณชัดแจ้งว่าทุกฝ่ายควรเร่งการลงมือปฏิบัติร่วมกัน

related