สีแดงกับเขียว เป็นสีประจำวันคริสต์มาส มาตั้งแต่เราจำความกันได้ อุปกรณ์ของตกแต่งล้วนแล้วมีสีแดงกับสีเขียวแซมแทรกอยู่ทั้งสิ้น Spring News พาย้อนดูที่มาของสองคู่สีนี้ มีต้นกำเนิดจากไหน แล้วทำไมถึงกลายเป็นภาพจำของวันคริสต์มาส
หากคิดถึงคริสต์มาส คุณนึกถึงอะไร?
ซานตาคลอส กวางเรนเดียร์ กล่องของขวัญ ต้นคริสต์มาส หรือบางคนอาจจดจำช่วงเวลาคริสต์มาส ว่าเป็นห้วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง เอาเป็นว่ามีหลากหลายสิ่งเหลือเกิน ที่เรานึกถึงเมื่อเห็นคำว่า “คริสต์มาส”
แต่ถ้าไม่ต้อง “คิดมาก” แล้วหลับตานึกวัน “คริสต์มาส” ภาพในหัวจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่จะเห็นเป็นสีเขียว-แดง เป็นภาพเบลอ ๆ อยู่ในจินตนาการ นั่นก็เพราะสีมีความสำคัญต่อการจดจำและการรับรู้ของมนุษย์อย่างมาก
แต่คำถามที่ว่า ทำไมคริสต์มาสถึงต้องเป็น “สีแดง” และ “สีเขียว” คงต้องย้อนไปหลักพันปี เพื่อติดตามที่มารากเหง้าในอดีต รวมทั้งเหตุผลที่ทำให้สีแดงกับสีเขียว กลายเป็นคู่สีที่คนเห็นก็รู้ว่านี่คือ “วันคริสมาสต์”
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีอยู่สองสามทฤษฎี ที่บอกเล่าถึงที่มาของสีแดงกับสีเขียว แต่แกนหลักของเรื่องถูกอ้างอิงมาจากชายหนึ่งคน เขาผู้นั้นคือ “พระเยซู”
วันคริสต์มาสในธรรมเนียมของชาวคริสเตียนคือวันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองให้กับวันคล้ายวันประสูติของพระเยซู
สีแดง-เขียวมาได้อย่างไร?
สีแดง หมายถึงพระโลหิตของพระเยซู ที่ทรงหลั่งระหว่างถูกตรึงกางเขน
สีเขียว หมายถึง ความเป็นนิรันดร์ของพระเยซู ที่ถูกนำไปเปรียบกับต้นไม้ในฤดูหนาว ที่แม้ว่าอากาศจะหนาวเหน็บแค่ไหน ต้นไม้เหล่านี้จะเขียวขจีอยู่อย่างนั้น เราเรียกต้นไม้เหล่านี้ว่า “Evergreen Tree”
นิยามความหมายด้านบนเป็นต้นธารและหัวใจของคริสต์มาส นักวิชาที่ได้ศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์เสนอไอเดียที่น่าสนใจ ย้อนกลับไปในปี 1300 เป็นช่วงที่คริสตจักรเริ่มเผยแผ่ศาสนาให้กับสาธารณะชน ด้วยการทำการแสดงที่เรียกว่า “Miracle Plays” หรือ บทละครทางศาสนา
หมายเหตุ: บทละครทางศาสนาถูกสอนให้กับประชาชนเพื่อใช้เป็นสื่อในการเผยแผ่ศาสนา แถมได้ผลดี เพราะประชาชนส่วนใหญ่อ่านเขียนไม่ได้ จึงใช้การแสดงในการส่งสาร
ทฤษฎีที่ 1
หนึ่งในบทละครยอดนิยม ที่ถูกเล่นในวันคริสต์มาสมีชื่อว่า “The Paradise Play” บอกเล่าเรื่องราวของอาดัมและเอวาในสวนเอเดน ที่ไปแอบกินผลของต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว หลายคนคิดว่าเป็นผลของต้นแอปเปิล ทว่า ในไบเบิลไม่ได้ระบุว่า ว่าเป็นต้นไม้ชนิดใดกันแน่
คริสตจักรในฐานะผู้ประชาสัมพันธ์ มิสามารถหาต้นแอปเปิลมาประดับตามที่ต่าง ๆ ได้ เพราะต้นแอปเปิลจะผลัดใบในช่วงฤดูหนาว ทำให้ต้องไปตัดต้นสนไม่แก้ขัดไปก่อน จนกระทั่ง กระแสต้นสน ที่ภายหลังกลายเป็น “ต้นคริสต์มาส” กลายเป็นภาพจำมาถึงทุกวันนี้
ทฤษฎีที่ 2
อีกหนึ่งทฤษฎีที่น่าสนใจ จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์น่าจะต้องย้อนกลับไปนานกว่าทฤษฎีแรกอีก นั่นคือการเฉลิมฉลองคือชาวโรมัน “แซตเทอร์นาเลีย” (Saturnalia)
ในวันที่ 17 ธันวาคม (ปฏิทินจูเลียน) เทศกาลแซตเทอร์นาเลียเพื่ออุทิศให้แก่เทพเจ้าแซตเทิร์น เทพในปกรณัมโรมัน หรือ “โครนัส” ในธรรมเนียมกรีกนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นขาใหญ่สุด ๆ
ช่วงเทศกาลดังกล่าว ชาวโรมันมักจะตกแต่งบ้านด้วยต้นฮอลลี่ และประดับด้วยรูปแกะสลักเล็ก ๆ เรียกว่า “Sigillaria” วางไว้บนต้นสน
ทั้งนี้ เหตุผลที่สีแดงกับเขียวกลายเป็นเมนสตรีมจนถึงทุกวันนี้ คงต้องกลับไปขอบคุณคริสตจักร ที่ริเริ่มนำคู่สีนี้มาใช้ จนทำให้ฝังอยู่ในรากวัฒนธรรมของมนุษย์ และแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก
ที่มา: Southern Living , Wonderopolis
เนื้อหาที่น่าสนใจ