เปิดประวัติ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของไทย ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ (ถึงแก่อนิจกรรม) แล้ว วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลา 10.32 น. โดยจะจัดพิธีละหมาดญะนาชะห์ ในวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ มัสยิด กลางประจำจังหวัดสงขลา
ประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรี ระบุว่า ตามที่ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้เข้ารับการรักษาอาการป่วย เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักจุฬาราชมนตรีขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ (ถึงแก่อนิจกรรม) แล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566 เวลา 10.32 น.
จะจัดพิธีละหมาดญะนาชะห์ (ละหมาดขอพร) ในวันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ มัสยิด กลางประจำจังหวัดสงขลา เลขที่ 352 ถนนลพบุรีราเมศวร์ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ประกาศ ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2566
ที่มา : สำนักจุฬาราชมนตรี
ด้านเพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา ได้เผยแพร่ประวัติของจุฬาราชมนตรีคนที่ 18
“อาศิส พิทักษ์คุมพล” เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2490 เป็นคนจังหวัดสงขลา โดยสืบเชื้อสายมาจาก “สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์” ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ศึกษาสายสามัญในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหัวเขา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา และในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา อ.เมือง จ.สงขลา สำหรับสายศาสนานั้นท่านศึกษาที่ปอเนาะอัลนาซอนีย๊ะ อ.จะนะ จ.สงขลา และที่ปอเนาะตุยง (ปัจจุบันคือโรงเรียนสกุลศาสน์อิสลาม) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
หลังจาก “นายประเสริฐ มะหะหมัด” ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจุฬาราชมนตรี ได้เสนอชื่อ “นายอาศิส พิทักษ์คุมพล” เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้มอบหมายให้ดูแลงานวิชาการร่วมกับนายวินัย สะมะอุน ต่อมาในปี 2530 ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้ถึงแก่กรรม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาโดยตลอด และเมื่อพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยกรรมการผู้ที่เป็นผู้แทนของแต่ละจังหวัด ซึ่งท่านก็ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการและรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในชุดที่มี “นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์” อดีตจุฬาราชมนตรี เป็นประธานกรรมการ
ในปี 2539 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสัดส่วนผู้นำศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแล้วยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อใช้ในสถานศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงนาย ทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาตใต้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ตาม พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งนับโดยเป็นคนที่ ๒ ต่อจาก “นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์” และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ ๑๘ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2553
คำปรารภเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี “...ท่านที่เคารพรักทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของพวกท่าน และไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะดีที่สุดไปกว่าพวกท่าน ดังนั้นหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง แล้ว ขอให้ท่าน ทั้งหลายได้โปรดให้ความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าด้วย และหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องขอให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันแก้ไข ให้ข้าพเจ้าได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ......ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ก็ขอให้ท่านโปรดเชื่อฟังข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าไม่เชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ ดังนั้น พวกท่านก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเชื่อฟังข้าพเจ้า...”
วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ท่านได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งนี้ในภายหลังโดยให้เหตุผลว่าตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” เป็นผู้นำศาสนาอิสลามในไทยไม่สมควรรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง
ที่มา : โบราณนานมา