เหตุการณ์สลด #พารากอน และการสูญเสียของตะวัน แรงงานสัญญาติเมียนมา สะท้อนภาพความปลอดภัยในเมืองไทยผ่านมุมมองแรงงานต่างชาติ ‘นาน มอ มอ หลุย’ ผู้สร้างความสุขให้คนไทยผ่านรอยยิ้มและอารมณ์ขับที่ปิดทับความกดดันจากสภาพเศรษฐกิจในบ้านเกิด
แม้พิธีฌาปนกิจศพของ ‘ตะวัน’ แรงงานสัญชาติเมียนมา เหยื่อจากเหตุการณ์ยิง #พารากอน จะเสร็จสิ้นลงไปแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังคงจำภาพเหตุการณ์ที่น่าสลด ณ วันเกิดเหตุ และภาพที่แม่ของผู้เสียชีวิตเดินทางจากประเทศเมียนมาร์มาร่วมงานศพลูกสาวด้วยความรู้สึกใจสลาย คำถามต่อมาที่ยังคงค้างอยู่ในใจคนทั่วไป คือ “เรามีความปลอดภัยแค่ไหน?” แต่สำหรับแรงงานต่างชาติแล้ว มันมากกว่านั้น เพราะการมาอยู่ในที่ต่างบ้านต่างภาษา การเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐก็ต่างกันออกไป
ทีมข่าว SPRiNG สัมภาษณ์พิเศษพนักงานเสิร์ฟสัญชาติเมียนมาร์ในร้านอาหารย่านพระรามสี่ ถึงความรู้สึก การปรับตัว และทัศนคติต่อประเทศไทยก่อนและหลังเหตุการณ์ยิงที่พารากอน
เกือบ 20 ปีที่ ‘นาน มอ มอ หลุย’ หรือไซ ชาวกะเหรี่ยงจากเมืองพะอัน ย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทย เธอเล่าว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจในบ้านเกิดที่ตกต่ำ ไม่มีงาน คนเรียนจบปริญญาตรีหรือโทต้องกลับมาเปิดร้านข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว รายได้เฉลี่ยประมาณ 2,000 บาทตือเดือน ยิ่งครอบครัวที่มีฐานะยากจนอย่างบ้านของเธอ ยิ่งมีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องไปขอข้าววัดกินประทังชีวิต ถ้าวันไหนที่ไปสายก็ไม่มีข้าวกินทั้งวัน เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอและพี่น้องต้องย้ายมาทำงานที่ประเทศไทย ตอนที่เธออายุเพียง 14 ปี
เธอเล่าว่า ช่วงแรกที่เข้ามาต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะอุปสรรคทางภาษา แต่ก็เริ่มเรียนรู้จากความผิดพลาดไปเรื่อยๆ จากที่ฟัง พูด อ่าน เขียน ไม่ได้เลย จนตอนนี้ฟังพูดได้คล่องแคล่ว อ่านภาษาไทยและภาษาอังกฤษพอได้แล้ว ด้วยการฝึกฝนผ่านการดูทีวี การฟังยูทูบ การฝึกฝนกับเจ้าของบ้านและผู้จัดการร้าน เธอทำมาหลากหลายอาชีพตั้งแต่แม่บ้าน พี่เลี้ยงเด็ก พนักงานโรงงาน และร้านอาหาร
“ร้านตัวเองอาหารอร่อยอยู่แล้ว อยากให้ลูกค้าก็มีความสุขด้วย คิดในใจว่ามีความสุขนะทำให้คนอื่นเขายิ้มได้”
ไซ เล่าให้ฟังต่อว่า เธอทำงานในร้านอาหารญี่ปุ่น “ชาการิกิ สาขานิฮอนมาจิ” หลายปี ได้รับการฝึกฝนให้ทำได้ทั้งเครื่องดื่ม รับออร์เดอร์ เสิร์ฟอาหาร และคิดเงิน แต่ที่ถนัดที่สุดคือการเอ็นเตอร์เทนลูกค้าที่มาทานอาหารให้มีความสุขไปด้วย เธอมักจะใช้ความสามารถในการจดจำ จำเนื้อเพลงไทยมาร้อง หรือเล่นมุขตลกตอนเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้า ทำให้พวกเขาลืมความเครียดหลังเลิกงานพร้อมกลับมามีรอยยิ้มและความสุขได้ในขณะที่ทานอาหารอร่อยๆ
เธอบอกว่าหลายครั้งที่ลูกค้าล้อเล่นเธอแรงๆ หรือล้อสำเนียงภาษาไทยของเธอ แต่เธอไม่เคยโกรธ เพราะคิดว่าถ้าทำให้เขามีความสุขได้ก็เป็นความสุขของเธอเช่นกัน เธอยังมองโลกในแง่ดีกว่า การที่ถูกล้อว่าสำเนียงการพูดไม่ชัด ก็ยิ่งทำให้เธอเห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง และฝึกพูดให้ชัดยิ่งขึ้น แต่บางครั้งก็ต้องเจอกับคนเมาที่ใช้อารมณ์ เคยเจอถึงขั้นไม่พอใจจนจบยกมือขึ้นมาตบหน้าเธอเหมือนกัน แต่ด้วยจิตวิญญาณของอาชีพบริการ ก็ต้องฝืนยิ้มต่อหน้าลูกค้าแล้วค่อยไปแอบร้องไห้หลังร้านจนหายเศร้า แล้วค่อยกลับมายิ้มรับลูกค้าให้ได้ใหม่
“เสียใจไหม ก็เสียใจ คือ คนบ้านเดียวกันจะเป็นอย่างนี้ อีกหน่อยพวกเรา...ใช่ไหม?”
เธอเปิดใจว่า การมาทำงานที่ประเทศไทยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้นบ้าง ไซทำงานและเก็บเงินส่งกลับบ้านเดือนละ 200,000-300,000 จัต หรือราว 3,000-4,000 บาท ส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายรายวันก็เป็นเงินเก็บสำหรับกรณีฉุกเฉิน เธอบอกว่า แม้ว่าที่ไทยจะเป็นเมืองที่อิสระและมีความที่ดีกับเธออยู่มากมาย แต่ด้วยความที่ไม่ใช่คนไทย หากเกิดเหตุการณ์ที่มาคาดฝันขึ้นมาก็ต้องสำรองเงินไว้เพื่อช่วยเหลือตัวเอง อย่างเช่น ช่วงโควิด ที่หลายคนต้องอดมื้อกินมื้อ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยข้าวแจกที่มีคนใจดีมาแจก เธอยังดีที่มีเงินประกันสังคมที่นายจ้างส่งให้มาช่วยเยียวยาจ่ายค่าห้อง แต่ก็ต้องประหยัดมากๆ เพราะไม่มีงาน และไม่มีเงินเยียวยาจากรัฐบาลเหมือนคนไทย
เรื่องของความปลอดภัย กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่เธอจะรู้สึกสลดใจทุกครั้งที่เปิดดูข่าวการตายของ ตะวัน เพื่อนร่วมชาติพันธุ์ เธอบอกว่ามันทำให้นึกถึงตัวเอง และเหตุการณ์ที่ลูกพี่ลูกน้องคนสนิทของเธอเคยเจอ เขาเข้ามาทำงานในไทยพร้อมเธอ แต่เสียชีวิตเพราะถูกรถแท็กซี่ชนแล้วหนี แต่ยังโชคดีที่มีนายจ้างที่ใจดีคอยจัดการเรื่องพิธีศพให้ มันเสียใจจุกอกแต่น้ำตาไม่ไหล พอได้มาเห็นข่าวตะวันและภาพแม่ตะวันมางานศพลูกสาวที่ไทย ทำให้ไซอดร้องไห้ออกมาไม่ได้ เธอบอกว่า เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ก็ต้องระวังตัวเวลาไปไหนมาไหน เพราะถ้ากลับไปบ้านก็ไม่มีงาน ไม่มีเงิน
เธอยอมรับว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปอยู่กับพ่อแม่จริงๆ เพราะไม่ได้กลับบ้านมา 6 ปีแล้วตั้งแต่ก่อนโควิดอีก แถมในช่วงที่โรคระบาดหนักๆ พ่อเธอก็เสียชีวิตแต่เธอไม่มีโอกาสได้กลับไปดูใจท่านเป็นครั้งสุดท้าย มันเป็นสิ่งที่เธอต้องแลกและอดทนเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่เหลือในครอบครัว
“ถ้าเป็นไปได้ เราอยากไปอยู่กับพ่อแม่จริงๆ เราไม่ได้เจอพ่อแม่มาตั้งแต่ก่อนโควิดอีก พี่ไม่ได้กลับมา 6 ปีแล้ว...ที่จริงอยากกลับบ้านไหม อยากกลับ อยากกลับมากที่สุด อยากให้บ้านตัวเองดีขึ้นเหมือนกัน” นาน มอ มอ หลุย กล่าว
รับชมเพิ่มเติม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง