ทำความรู้จัก "กลุ่มฮามาส" กองกำลังติดอาวุธของปาเลสไตน์ที่เคร่งศาสนาปกครองฉนวนกาซา ทำสงครามต่อต้านอิสราเอลมาหลายครั้ง
ย้อนไปช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค. 2566 ตามเวลาที่อิสราเอล กลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธปาเลสไตน์ ที่เรียตัวเองว่า กลุ่มฮามาส โจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ในรอบหลายปี โดยมีรายงานว่าจรวดถูกยิงมาจากฉนวนกาซา ทำให้มีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงมีการจับตัวประกันด้วยและหนึ่งในนั้นมีแรงงานไทยถูกจับไปด้วย
ความขัดแย้งของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ มีมาอย่างยาวนานเกือบ 100 ปี โดยสาเหตุหลักมาจากการแย่งชิงดินแดนกัน ซึ่งต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย 1920 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวยิวจำนวนมากได้ลี้ภัยสงครามจากในยุโรปไปยังตะวันออกกลาง ตั้งรกรากใหม่ในปาเลสไตน์ และทรานส์จอร์แดน แต่แล้วไฟสงครามก็มาถึง เมื่อจักรวรรดิออตโตมันได้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้กับอังกฤษเข้ายึดครองดินแดนในปี 1922 และทำให้ชาวยิวย้ายถิ่นฐานมาที่นี่อย่างต่อเนื่อง
ในปี 1947 สหประชาชาติมีมติให้แบ่งพื้นที่ปาเลสไตน์ออก เป็นรัฐชาวยิวและชาวอาหรับแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง และให้เยรูซาเลมเป็นเมืองนานาชาติ ซึ่งแน่นอนว่าได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวปาเลสไตน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่คนปาเลสไตน์นั้นอยู่มาก่อน
กลุ่มฮามาสเป็นกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม มีความหมายตามภาษาอาหรับว่า “ความมุ่งมั่นปรารถนา” กลุ่มฮามาสปกครองฉนวนกาซา ซึ่งมีอาณาเขตประมาณ 365 ตารางกิโลเมตร และมีผู้อยู่อาศัยกว่า 2,000,000 คน ตั้งแต่ปี 2550
กลุ่มฮามาส ก่อตั้งโดยนักการด้านศาสนากลุ่มหนึ่ง เมื่อปี 2530 หลังการลุกฮือครั้งแรกของชาวปาเลสไตน์ต่ออิสราเอล เพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลเหนือฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์
กลุ่มฮามาสมีกองกำลังเป็นของตัวเอง ขณะที่หลายประเทศขึ้นบัญชีดำกลุ่มฮามาสเป็น “องค์กรก่อการร้าย” ซึ่งรวมไปถึงสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และสหภาพยุโรป
แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มฮามาสก็ได้รับความสนับสนุนจากชาติอาหรับหลายประเทศ รวมถึง อิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งมีฐานอยู่ในเลบานอน
ฉนวนกาซามีพื้นที่ 41 กิโลเมตร กว้าง 10 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างอิสราเอล อียิปต์ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีประชากรกว่า 2.3 ล้านคน และถือเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
อิสราเอลควบคุมน่านฟ้าเหนือฉนวนกาซาและแนวชายฝั่ง จำกัดผู้คนและสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าออก ขณะที่อียิปต์ก็ควบคุมและจำกัดบุคคลที่ผ่านเข้าออกฉนวนกาซาทางด้านชายแดนทางบกที่ติดกับอียิปต์
องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประชาชนที่อยู่ในฉนวนกาซาราว 80% ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติ และประชาชนกว่า 1 ล้านคนต้องขอรับความช่วยเหลือด้านอาหารในแต่ละวัน
อิสราเอลได้ปิดล้อมฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งการปิดล้อมดังกล่าวได้จำกัดการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าเข้าและออกจากฉนวนกาซา และมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา
ความขัดแย้งระหว่างฮามาสและอิสราเอลต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนจากทั้งสองฝ่าย
มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างฮามาสและอิสราเอล บางคนเชื่อว่าความขัดแย้งนั้นเป็นความขัดแย้งทางศาสนา ในขณะที่บางคนเชื่อว่าเป็นความขัดแย้งทางการเมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง