พามาส่องดูภาษีเงินได้ต่างประเทศ ภาษีมรดก ภาษีคาร์บอน มีความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง ? ที่ประชาชน ภาคธุรกิจ ต้องจับตาภาษีเหล่านี้ต่อไปว่าจะไปในทิศทางไหน และศึกษารายละเอียดในการเสียภาษีด้วย !
ภาษี คือ สิ่งที่รัฐบาลจัดเก็บขึ้นมาเพื่อนำเงิน และรายได้ไปบริหารประเทศ ส่วนคนเสียภาษีก็ต้องเสียเข้ารัฐตามระเบียบ และประเภทของแต่ละภาษีตามเงื่อนไขที่ภาษีนั้นๆกำหนดไว้ ว่าเราจะเสียมากหรือเสียน้อยเพียงใด ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของ 3 ภาษี หลังจากที่รัฐบาลใหม่ที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
วันนี้ #สปริงนิวส์ จะพาไปดูความเคลื่อนไหวของภาษีเงินได้ต่างประเทศ ภาษีมรดก ภาษีคาร์บอน ว่าแต่ละภาษีมีความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง ? มาเริ่มกันที่ภาษีเงินได้ต่างประเทศ ที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ออกคำสั่งจัดเก็บภาษี สำหรับคนที่มี “เงินได้จากต่างประเทศ” จากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.67
โดยนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในคำสั่งกรมสรรพากร เรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
ด้านนายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และลงนามผูกพัน ในความตกลงพหุภาคีดังกล่าว เสริมสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ภายในและภายนอกประเทศ อีกทั้งเป็นการยกระดับความโปร่งใสในการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งจะร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปรับปรุงวิธีการการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้ จากแหล่งเงินได้นอกประเทศต่อไป
ต่อมา คือ ภาษีมรดก ที่กรมสรรพากร รับลูก "นายกฯเศรษฐา ทวีสิน" ศึกษารายละเอียดภาษีมรดก และจ่อรื้อเกณฑ์ให้เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บ พร้อมดูรายละเอียดภาษีเกี่ยวกับการให้ช่วงมีชีวิตอยู่ โดยนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ทบทวนเรื่องภาษีมรดกนั้น ขณะนี้กรมฯได้รับนโยบายแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษี
ทั้งนี้จะพิจารณาในเรื่องอัตราการเก็บภาษี และโครงสร้างต่างๆ เพราะมีรายละเอียดหลายส่วน โดยเป้าหมายในการออกภาษีมรดกช่วงแรกอัตราภาษีไม่สูงนัก เนื่องจากช่วงนั้นเป็นภาษีใหม่ ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก และเกิดแรงต้าน และเมื่อปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป จึงจะมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งจะไปศึกษาและดูรายละเอียดภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีเกี่ยวกับการให้ อาทิ การมอบ โอนสิทธิในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ส่วนแผนปฏิรูปภาษีในภาพใหญ่ของกรมนั้น จะต้องนำเสนอรัฐบาลอีกครั้ง
ถัดมา คือ ภาษีคาร์บอน ที่กรมสรรพสามิต ออกมาขีดเส้น 3 ปี ให้คลอดภาษีคาร์บอนให้ได้ โดยนางสาวรัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภาษีคาร์บอนจะช่วยลดภาระการส่งออกของผู้ประกอบการ ขณะนี้โจทย์ระยะสั้นที่ต้องดำเนินการ คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) หรือกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของอเมริกาที่จะออกมา กรมจึงมีโจทย์ที่อยากตอบได้ทั้งคู่ว่าหากกำหนดภาษีคาร์บอนจะไม่สร้างภาระ และอยากให้ใช้ประโยชน์ได้ หากผู้ประกอบการชำระภาษีในประเทศแล้ว จะต้องนำไปใช้ในต่างประเทศได้
โดยขณะนี้ได้หารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการร่างกฎหมายแล้ว ซึ่งต้องการทำให้สอดคล้องกับการดำเนินการของ CBAM โดย CBAM ให้เวลาอีก 3 ปี ที่จะดำเนินการเก็บภาษีจริง หากกลไกภาษีคาร์บอนช่วยได้ กรมฯต้องทำภาษีคาร์บอนให้เสร็จภายใน 3 ปี
นี่คือเรื่องราวของภาษีเงินได้ต่างประเทศ ภาษีมรดก ภาษีคาร์บอน ที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อจัดเก็บเงินเข้ารัฐไปบริหารประเทศ ในส่วนของประชาชน ภาคธุรกิจ ก็ต้องจับตาภาษีเหล่านี้ต่อไปว่าจะไปในทิศทางไหน และต้องศึกษารายละเอียดในการเสียภาษีดังกล่าวด้วย !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สรรพากร จ่อเก็บ "ภาษีรายได้ต่างประเทศ" บุคคลธรรมดา ดีเดย์ 1 ม.ค. 67
กรมสรรพากรยุคใหม่ใช้ ChatGPT ของไมโครซอฟท์ ไขทุกข้อสงสัยเรื่องยื่นภาษี