'วิษณุ' ยืนยัน ได้รับหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ 'ทักษิณ ชินวัตร' พร้อมเปิดขั้นตอนการ ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ‘เฉพาะราย’ ต้องทำอย่างไรและกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการอย่างไรต่อบ้างดูเลย
วันที่ 31 ส.ค. 66 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี สังคมตั้งคำถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ว่า
นายวิษณุ กล่าวว่า "ผมยังมีเครดิตอยู่บ้าง ก็จะยืนยันว่าอยู่จริง ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจริง หลังจากที่พักอยู่ถึงเวลาเที่ยงคืน เนื่องจากนายทักษิณป่วยมีความดันขึ้นเกือบ 200 รวมไปถึงต้องกินยาสลายลิ่มเลือด คงแพ้อะไรสักอย่าง ซึ่งเรียกว่าดีเปรส ทำให้อาการทรุดหนักลง แต่หนักขนาดไหนผมไม่รู้ จึงทำให้ต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งผมได้ฝากฝัง ให้แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจได้ดูแล"
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ตัวของนายทักษิณอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ใครไปเยี่ยมไปเยือนก็ไปที่นั่น และต่อไปก็จะเปิดให้คนอื่นเข้าเยี่ยมด้วย
ส่วนอาการป่วยของนายทักษิณ ในลักษณะเช่นนี้เป็นเหตุให้มีข้อมูลเพิ่มไปขอพระราชทานอภัยโทษได้หรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่า เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้ โดยปกติแล้ว คนที่ขอพระราชทานอภัยโทษโดยมาก จะอ้าง คุณงามความดีในอดีต, คุณงามความดีในปัจจุบัน เช่นขณะนี้เป็นนักโทษได้เลื่อนชั้นเป็นนักโทษดีเยี่ยม และอาจระบุว่าในอนาคตจะบวชหากได้พ้นโทษไปแล้ว หรือจะไปทำคุณงามความดีก็สุดแล้วแต่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วนที่สุด! "วิษณุ" ได้รับหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ "พี่โทนี่" ทักษิณ แล้ว
รพ.ตำรวจ แจงหลักเกณฑ์การเยี่ยม "ทักษิณ" อาจมีข้อกำหนดอื่นเพิ่มเติม
ทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ ถกอัพเดทอาการ “ทักษิณ” จ่อเปิดให้ 10 คนใกล้ชิดเยี่ยม 28 ส.ค.
นายวิษณุ ยอมรับว่า เอกสารการเขียนคำขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ ได้ถึงมือแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
เมื่อถามว่า ใครเป็นผู้เขียนขอพระราชทานอภัยโทษ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบว่าเป็นใคร ซึ่งการเขียนขอพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้เป็นการขอเฉพาะบุคคลไม่เกี่ยวกับโอกาสวันสำคัญ ไม่ต้องดูว่ารับโทษมาแล้วเท่าใด เป็นพระมหากรุณาธิคุณยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบ ซึ่งมีขั้นตอนไม่นาน
ความหมายของการพระราชทานอภัยโทษ
การพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง การที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทาน พระมหากรุณาธิคุณแก่นักโทษผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับโทษทางอาญา ให้ได้รับการยกโทษหรือเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในการพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่นักโทษซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษแล้วเท่านั้น
โดยจะกระทำได้ต่อเมื่อมีผู้ร้องขอหรือถวายเรื่องราวต่อ พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้น ๆ ไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับการลดโทษแต่เพียงบางส่วน ทั้งนี้ ผลของการพระราชทานอภัยโทษนั้น ไม่ทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่ผู้ต้องโทษต้องสูญเสียไปเพราะคำพิพากษานั้นกลับคืนมาไม่
เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับเรื่องราว ขอพระราชทานอภัยโทษจากเรือนจำหรือ ทัณฑสถานแล้ว กรมราชทัณฑ์จะดำเนินการดังต่อไปนี้
ผลของการพระราชทานอภัยโทษ แยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี คือ
1.ในกรณีที่มีการพระราชทานอภัยโทษเด็ดขาดโดยปราศจากเงื่อนไข กฎหมายห้ามมิให้บังคับโทษนั้น กล่าวคือ ถ้าบังคับโทษไปบ้างแล้วก็ให้หยุด การบังคับโทษทันที หรือถ้าเป็นกรณีที่ได้รับโทษปรับและได้ชำระค่าปรับไปแล้ว ก็ให้คืนค่าปรับนั้นทั้งหมดแก่ผู้ขอพระราชทานอภัยโทษนั้น
2.กรณีที่การอภัยโทษนั้นเป็นแต่เพียงเปลี่ยนโทษหนักเป็นโทษเบา หรือลดโทษ ถ้ายังมีโทษเหลืออยู่ภายหลังที่ได้รับการอภัยโทษแล้วก็ให้บังคับเฉพาะโทษ ที่เหลืออยู่นั้นต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล
ทั้งนี้ ผลของการได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้นหาทำให้สิทธิต่าง ๆ ที่ต้องสูญเสียไปเพราะคำพิพากษากลับคืนมาไม่ และการได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ได้รับโทษพ้นจากความรับผิดในการต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินหรือ ค่าทดแทนตามคำพิพากษาไม่ นอกจากนี้ หากผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องจากการกระทำความผิดอย่างหนึ่งถูกฟ้องว่ากระทำความผิดอีกอย่างหนึ่งการได้รับ อภัยโทษนั้นย่อมไม่ตัดอำนาจศาลที่จะเพิ่มโทษหรือไม่รอการลงอาญาตามประมวล กฎหมายอาญาว่าด้วยการกระทำความผิดหลายครั้งไม่เข็ดหลาบหรือว่าด้วย รอการลงอาญาแต่ประการใด
ข้อมูลจาก : วุฒิสภา , สำนักกฏหมาย