สภาสูง พิจารณารายงานบทบาท สว. หนุนคงระบบสภาคู่ ห่วงเลือกตั้งทางอ้อมกลางปีหน้ามีฮั้วโหวต "รณวริทธิ์-วงศ์สยาม" ชงปลดล็อกเว้นวรรคให้ลงสมัครอีกได้
ที่ประชุมวุฒิสภา หรือ สว. พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องวุฒิสภา ความสำคัญ และบทบาทในการปกครองระบบรัฐสภาไทย ที่คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. เป็นประธานกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีความเห็นว่า
ควรกำหนด สว.ให้มีจำนวน 200 กำหนดวาระ 5 ปี และสามารถกลับมาทำหน้าที่ได้อีกวาระหนึ่ง โดยวาระแรก ไม่รวม สว.ชุดปัจจุบัน เนื่องจาก หลายประเทศ กำหนดให้ สว.สามารถทำหน้าที่ได้หลายวาระไม่ขาดตอน หรือสามารถทำหน้าที่ได้จนกว่าจะเสียชีวิต เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และสร้างเสถียรภาพ ถ่วงดุล เป็นพี่เลี้ยงให้สภาผู้แทนราษฎร เปรียบ
"วุฒิสภา เป็นเสมือนจานรองแก้วกาแฟ ที่ช่วยทำให้กาแฟเย็นลง"
พร้อมเสนอให้กำหนดคุณสมบัติ สว. จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์อย่างน้อย 15 ปี ในสายอาชีพที่เชี่ยวชาญ 20 กลุ่มที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ห้ามสังกัดพรรคการเมือง หรือพ้นจากการเป็นสาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี และในกระบวนการเลือกตั้งกลุ่มอาชีพนั้น ควรเลือกเริ่มต้นในระดับจังหวัด และไม่ต้องเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพ เนื่องจาก การเลือกไขว้ อาจทำให้ผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพอื่น ไม่รู้จักผู้สมัครต่างอาชีพอย่างดีพอ และอาจเกิดการจับขั้วแลกคะแนนกันได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เศรษฐา ดินเนอร์ร่วมโต๊ะเจ้าสัวเมืองไทย ดีกรีแต่ละคนบอกเลย "ไม่ธรรมดา"
เปิดประวัติ สุทิน คลังแสง ว่าที่ รมว.กลาโหม ที่กำลังฝ่าแรงต้าน ได้คุมกองทัพ
เปิดรายชื่อเจ้าสัวใหญ่ นัดพบ ทานดินเนอร์ กับ เศรษฐา ทวีสิน นัดแรก
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ สว.นั้น กรรมาธิการฯ เสนอให้ สว.สามารถเสนอแก้ไข ปรับเพิ่ม หรือสามารถเสนอกฎหมายได้ เหมือน สว.ในต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน และอเมริกา ที่สามารถเสนอกฎหมายได้
ขณะที่ การอภิปรายของ สว.เป็นไปอย่างหลากหลาย ทั้งการสนับสนุนให้ระบบรัฐสภาไทย เป็นไปแบบสภาคู่ หรือมี 2 สภา เพื่อเป็นสภาพี่เลี้ยง และถ่วงดุลอำนาจ กับสภาผู้แทนราษฎรในการกลั่นกรองการพิจารณาร่างกฎหมาย และตรวจสอบฝ่ายบริหารตามสมควร และยังแสดงความกังวลต่อการเลือกตั้ง สว.ทางอ้อม ที่จะเกิดขึ้นหลังวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จะหมดวาระลง ในช่วงกลางปีหน้า ที่ผู้สมัคร สว.อาจจะฮั้วการลงคะแนนให้กันในการเลือกตั้งทางอ้อม
อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. อภิปรายไม่เห็นด้วย หากจะให้อำนาจ สว.มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายได้ เพราะการเสนอร่างกฎหมาย เป็นเรื่องทางการเมือง และเกี่ยวข้องกับนโยบายพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ซึ่งแม้ สว.บางประเทศอาจเสนอกฎหมายได้ ก็จะต้องผูกพันกับที่มาของ สว.ด้วย มิเช่นนั้น จะทำให้วุฒิสภา กลายเป็นสภาการเมือง ซ้อนกับสภาผู้แทนราษฎรทันที และจะต้องอาศัยเสียงลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรด้วย จึงขอให้กรรมาธิการฯ ทบทวนข้อเสนอดังกล่าว
นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สว. อภิปรายถึงการกำหนดวาระ สว. ที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง สว.เพราะตราบใดที่ประชาชนในสาขาอาชีพ เห็นว่า มีความเหมาะสมเป็น สว.ได้ ก็ควรให้เป็น สว.ตลอดชีวิต เพราะไม่ควรกำหนดด้วยความกังวล หรือมองโลกในแง่ลบ และกำหนดให้เป็น สว.ได้เพียง 1 หรือ 2 สมัยเท่านั้น จึงควรปลดล็อก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในแต่ละอาชีพ และความต่อเนื่องในการทำงาน
สอดคล้องกับ นายวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี สว. เห็นว่า ที่มาของ สว.ควรจะแตกต่างจาก สส. อาจให้องค์กรอิสระเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก สว.ได้ และไม่เห็นด้วยในการจำกัดสิทธิการเป็น สว.ได้เพียงสมัยเดียว จึงเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว เพราะ สว.ชุดปัจจุบันทั้ง 250 มีคุณภาพ มีคุณสมบัติที่หาเทียบได้ยาก มีความโดดเด่น และถือเป็นสิทธิของตนเอง และประชาชน ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง สว.ให้เชื่อมโยงกับประชาชน หรือหากใครไม่ต้องการเป็น สว.ต่อ ก็ไม่ต้องไปสมัคร เพื่อปิดสวิชต์ตนเอง และยังจะกระทบต่อผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 2 ปีด้วย
ด้าน นายเสรี ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ระบุว่า กรรมาธิการฯ พร้อมนำความเห็น สว.สะท้อน ไปบรรจุไว้ในรายงานฉบับนี้ เพื่อให้หน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในอนาคต ทั้งคณะรัฐมนตรี กกต. พรรคการเมืองต่าง ๆ รวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แต่ย้ำว่า รายงานฉบับนี้ จะไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อ สว.ชุดปัจจุบัน และสิ่งใดก็ตามที่สังคมกำลังจับตามองว่า สว.ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ หากกรรมาธิการฯ จัดทำรายงานด้วยการขาดจริยธรรม ขาดคุณธรรม ขาดความชอบธรรม เพื่อหาประโยชน์ใส่ตนเอง สังคมก็จะไม่ยอมรับ ดังนั้น ข้อเสนอเรื่องการเว้นวรรคทางการเมืองของ สว. ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ หากกรรมาธิการฯ เสนอให้มีการแก้ไข สังคมก็ไม่อาจยอมรับได้