ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัย โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ช่วง "วันแม่แห่งชาติ 2566" ระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกขายสินค้าและบริการออนไลน์ แนะ 9 วิธีป้องกันก่อนตกเป็นเหยื่อ
ตำรวจไซเบอร์ เผย สถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าและบริการออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันแม่แห่งชาตินั้น มิจฉาชีพอาจฉวยโอกาสใช้วันสำคัญดังกล่าวจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการให้แก่ประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพจร้านค้าปลอม หรือเพจที่พักปลอม หรือสร้างเพจปลอมเลียนแบบเพจจริง
โดยจะมีการขายสินค้า หรือบริการในราคาต่ำกว่าปกติ เมื่อหลอกลวงได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายแล้ว ก็จะปิดเพจหรือบล็อคบัญชีของผู้เสียหายทำให้ไม่สามารถติดต่อได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "Flash Express" เตือนลูกค้าระวัง SMS ปลอม ห้ามกดลิงก์เด็ดขาด
• เตือนภัย แอปดูดเงิน ปลอม Google Play อาละวาด เช็กเลยจุดสังเกต-วิธีป้องกัน
• ได้ "หมายเรียก" อย่าเพิ่งตกใจ! เช็กก่อนจริง-ปลอม ระวังมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน
ตัวอย่างกรณีของปีที่ผ่านๆ มา เช่น การปลอมเพจหลอกลวงขายผลไม้ในช่วงเวลาดังกล่าว, ผู้เสียหายซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อเป็นของขวัญให้แม่จากเพจร้านค้าปลอม, ผู้เสียหายสำรองห้องพักโปรโมชันวันแม่จากเพจที่พักปลอม เป็นต้น
แนวทางการซื้อสินค้า หรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์
1. ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญๆ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง รวมถึงการจองที่พักควรจองผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
2. ระมัดระวังการซื้อสินค้าหรือบริการที่ราคาถูกกว่าปกติ หรือมีการจัดโปรโมชั่นอ้างลดแลกแจกแถม
3. หากจะซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงจะได้รับเครื่องหมายยืนยันตัวตน มีผู้ติดตามสูงกว่าเพจปลอม สร้างมาเป็นเวลานาน และมีรายละเอียดการติดต่อที่ชัดเจน อย่างน้อยต้องสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลได้
4. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่
5.หากเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ ควรตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น
6.ตรวจสอบการรีวิวสินค้าหรือบริการ จากผู้ที่เคยสั่งซื้อหรือรับบริการว่าเป็นอย่างไร
7.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า หรือบริการ ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน ชื่อผู้รับโอนเงิน และหมายเลขบัญชีธนาคารปลายทาง ว่ามีประวัติการฉ้อโกงหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller, chaladohn เป็นต้น
8.ที่พักส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัว หรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารปลายทางควรเป็นบัญชีชื่อที่พักหรือชื่อบริษัทเท่านั้น
9.กดรายงานบัญชี หรือเพจเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ที่มา : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ