"ชัยธวัช" เผยชง "พิธา" โหวตนายกฯ ซ้ำ 19 ก.ค. นี้ ชี้ขอรอดูมติรัฐสภาก่อนให้สิทธิ "เพื่อไทย" นำตั้งรัฐบาล - เชื่อ "บิ๊กป้อม" โอกาสนั่งนายกฯ ยาก ไม่น่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
โหวตนายก : นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวก่อนการประชุมร่วมกับผู้แทนพรรคการเมือง และวิปวุฒิสภา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค) ถึงกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนไม่เห็นด้วยหาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นครั้งที่ 2 เนื่องจาก ถูกรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบไปแล้วว่า 8 พรรคร่วมฯ ได้ตีความร่วมกันแล้วว่า ไม่สามารถตีความการเสนอชื่อนายพิธา เป็นญัตติได้ เพราะกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติขั้นตอน และหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจน คล้ายกับการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งบางครั้งก็มีการเสนอชื่อซ้ำได้
ส่วนหากไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ได้ พรรคก้าวไกลจะให้สิทธิการจัดตั้งรัฐบาลแก่พรรคเพื่อไทยเลยหรือไม่นั้น นายชัยธวัช ระบุว่า 8 พรรคร่วมฯ ยังไม่ได้มีการหารือกันในประเด็นดังกล่าว แต่พรรคก้าวไกล มุ่งมั่นที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ซึ่งหากมีการลงมติครั้งที่ 2 ไปแล้ว แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้ทันการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 หรือพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสแล้วจริง ๆ พรรคก้าวไกล ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย แต่หากมติที่พรรคก้าวไกลได้รับเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ พรรคก้าวไกล ก็จะยังคงเดินหน้าต่อในการลงมติครั้งที่ 3 เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วมฯ สำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ชัยธวัช" แจงปมแก้ไขความผิดหมิ่นประมาทตาม ม.112 ในอดีตเคยมีมาก่อนแล้ว
ชาดา ไทยเศรษฐ์ ประวัติ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายดุ ทำสภาเดือด
นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงกรณีที่หากพรรคร่วมเสียงข้างน้อย เสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ด้วยว่า พรรคก้าวไกล ไม่ได้กังวล และได้ติดตามสถานการณ์ตลอด โดยเชื่อว่า ไม่เป็นไปได้ แม้จะสามารถเสนอชื่อได้ แต่ไม่น่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเอง ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ และ 10 พรรคร่วมฯ 188 เสียงก็ไม่มีเอกภาพในเรื่องดังกล่าว จึงไม่น่ากังวลใด ๆ
ส่วนกรณีที่มีการคาดการณ์ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) เพื่อพิจารณารับคำร้องการถือครองหุ้นสื่อมวลชนของนายพิธา หลัง กกต.ได้เรื่องไปก่อนหน้านี้ วิป 3 ฝ่ายจะมีการหารือกันในเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่นั้น นายชัยธวัช ระบุว่า ที่ประชุมฯ ไม่น่าจะหารือกัน เพราะไม่ได้เกี่ยวกับข้องกระบวนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และเมื่อปี 2562 ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาในขณะนั้นด้วย
นายชัยธวัช ยังชี้แจงถึงกรณีที่มีการติดต่อกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อพูดคุยถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะตนเองเพียงแต่ได้พยายามติดต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายเฉลิมชัยไม่ได้รับสายเพื่อ สอบถามท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ หลังเกิดกระแสข่าว จะมีการเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่ใช่การรวมเสียงกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด