svasdssvasds

ว่อนเน็ต! เอกสาร บช.น. ถกแผนรับ “ทักษิณ” กลับไทย ตั้งแต่ลงเครื่อง-เรือนจำ

ว่อนเน็ต! เอกสาร บช.น. ถกแผนรับ “ทักษิณ” กลับไทย ตั้งแต่ลงเครื่อง-เรือนจำ

ว่อนเน็ต! เอกสาร บช.น.ประชุมถกแผนคาดเตรียมรับ “ทักษิณ” กลับไทย ระบุมาเครื่องบิน ยังไม่แน่ชัดว่าสนามบินไหน พร้อมวาง 6 เส้นทางหลัก-รอง จากสนามบิน-บช.ปส.-ศาลฎีกา ก่อนส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

 มีรายงานว่า ผู้สื่อข่าวได้รับสำเนาเอกสารฉบับหนึ่ง ระบุว่าเป็นกำหนดการประชุมเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ในวันพุธที่ 12 ก.ค.66 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมปารุสกวัน 1 อาคาร บช.น. (กองบัญชาการตำรวจนครบาล) โดยในเอกสารดังกล่าวได้ ระบุระเบียบวาระการประชุมที่ 2 เป็นการรับทราบสถานการณ์การข่าวและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์และภัยคุกคาม (บช.ส.1) (กองบัญชาการตำรวจสันติบาล)

 รวมไปถึงขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย กรณีมีผู้ต้องหาตามหมายจำคุกเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยเครื่องบินโดยสาร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ

ในระเบียบวาระการประชุมที่ 3 เป็นเรื่องพิจารณา ประกอบด้วย

3.1 การพิจารณากำหนดเส้นทางการเดินทาง (บก.จร.) (กองบังคับการตำรวจจราจร) รวม 6 เส้นทาง ได้แก่

3.1.1 เส้นทาง (หลัก และรอง) จากสนามบินสุวรรณภูมิ มายังศาลฎีกา (สนามหลวง)

3.1.2 เส้นทาง (หลัก และรอง) ในการเดินทางจากสนามบินดอนเมือง มายังศาลฎีกา (สนามหลวง)

3.1.3 เส้นทาง (หลัก และรอง) ในการเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ มายัง บช.ปส. (กองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด) (สถานที่ควบคุมพิเศษ)

ว่อนเน็ต! เอกสาร บช.น. ซักซ้อมรับ “ทักษิณ” กลับไทย ตั้งแต่ลงเครื่อง-เรือนจำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ทักษิณ ชินวัตร กลับไทยจะติดคุกไหม? ย้อน 8 คดีทุจริตลือลั่น โทษคุกสถานเดียว

• ครอบครัวชินวัตร เบรก "ทักษิณ" อย่าพึ่งกลับไทย! หวั่นถูกหลอก

• 'ทักษิณ' ยันกลับไทยกำหนดการเดิม ก.ค. นี้ ลั่นบ้านผม ผมจะกลับมีอะไรไหม?

3.1.4 เส้นทาง (หลัก และรอง) ในการเดินทางจากสนามบินดอนเมือง มายัง บช.ปส. (สถานที่ควบคุมพิเศษ)

3.1.5 เส้นทาง (หลัก และรอง) จาก บช.ปส. มายังศาลฎีกา (สนามหลวง)

3.1.6 เส้นทาง (หลัก และรอง) จากศาลฎีกา (สนามหลวง) มายังเรือนจำพิเศษ กทม.

ในหัวข้อ 3.2 เป็นการพิจารณาแนวทางการวางกำลังรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจร (พื้นที่ที่เกี่ยวข้อง) แบ่งเป็น

3.2.1 เส้นทางการเดินทาง ตามข้อ 3.1.1-3.1.6

3.2.2 การบริหารจัดการพื้นที่ และการวางกำลังรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร ในแต่ละสถานที่ (สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง, บช.ปส. และ ศาลฎีกา)

ขณะที่หัวข้อ 3.3 เป็นการพิจารณาแนวทางการจัดรูปแบบขบวนรถในการรักษาความปลอตภัย (บก.จร. และ บก.สปพ. (กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191)
 

 ทั้งนี้จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บช.น.พบว่า ไม่มีผู้ใดยอมรับ หรือปฏิเสธเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าว ซึ่งการประชุมเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของ บช.น.ที่ระบุในระเบียบวาระที่ 2 ถึงขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย กรณีมีผู้ต้องหาตามหมายจำคุกเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยเครื่องบินโดยสาร สอดคล้องกับคำประกาศของ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า จะกลับประเทศไทยภายในเดือน ก.ค.66

ในเอกสารมีการระบุถึง บช.ปส.เป็นสถานที่ควบคุมพิเศษ ซึ่งตรงกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้กำหนดใช้ บช.ปส.ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับสโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต

ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยใช้ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมจากเหตุชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง เป็นสถานที่ควบคุมตัว นายทักษิณ เป็นการชั่วคราวในระหว่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก่อนนำตัวไปคุมขังที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตามโทษในคดีที่ศาลตัดสินเป็นที่สุดแล้ว

 สำหรับ "ทักษิณ ชินวัตร" ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วจำนวน 4 คดี โทษจำคุกรวม 12 ปี แต่จำนวนนี้มี 1 คดีที่ขาดอายุความไปแล้ว ส่งผลให้เหลือโทษจำคุกรวม 10 ปี ประกอบด้วย

1. คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี (คดีขาดอายุความแล้ว)

2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ “คดีหวยบนดิน” ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

3. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอกซิมแบงก์) อนุมัติปล่อยเงินกู้ 4 พันล้านบาทให้แก่รัฐบาลเมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

4. คดีให้นอมินีถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ นายทักษิณ เคยระบุจะเดินทางกลับในวันที่ 26 ก.ค. ตรงกับวันเกิด โดยการข่าวของตำรวจยังไม่แน่ชัดว่า นายทักษิณ เดินทางมาวันใด ในการประชุมเบื้องต้นได้เตรียมการวางจำนวนกำลังพล ผู้ที่รับผิดชอบใน บก.และสน. ร่วมกับตำรวจ 191 บก.สส. บก.จร. และบช.ส. เพื่อป้องกันเหตุในการควบคุมตัวนายทักษิณไปดำเนินคดี

ว่อนเน็ต! เอกสาร บช.น. ถกแผนรับ “ทักษิณ” กลับไทย ตั้งแต่ลงเครื่อง-เรือนจำ

 อย่างไรก็ตาม  จากการตรวจสอบเอกสาร วิทยุในราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล พบว่า ตัวเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารตัวจริง มี พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รอง ผบช.น. ปรท.ผบช.น. แจ้งวิทยุในราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล ลำดับความเร่งด่วน ด่วนที่สุด ชั้นความลับ ที่ 0015.135/9287 ลงวันที่ 10 ก.ค.66 ถึง ผบก.1 ,2 ,3 ,4 ,จร. ,สส. ,สปพ. และ อก. 

โดยอ้างถึง การเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อย และ จัดการจราจรบุคคลสำคัญ ในพื้นที่ บช.น. เพื่อให้การเตรียมการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และจัดการจราจร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงกำหนดให้มีการประชุม ในวันพุธที่ 12 ก.ค.66 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 1 ชั้น 2 อาคาร บช.น. 

 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. ,ผบก.น.1, 2, 3 และ 4 ,ผบก.ตม.2 ,ผบก.ส.3 รอง ผบก.จร., สส., สปพ. และ อก.  ,ผกก.สน.ดุสิต, นางเลิ้ง, ชนะสงคราม, ดอนเมือง, ประชาชื่น, ทุ่งสองห้อง และ ลาดกระบัง ,รอง ผกก.กก.2 บก.จร, สน.ทางด่วน (1),(2) และ สน.วิภาวดี ,ผกก.ฝอ.3 บก.อก.บช.น. หรือผู้แทน

ทั้งนี้ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมข้อมูลในรูปแบบ (Power Point) นำเสนอที่ประชุม ส่วนรายละเอียดตามวาระการประชุมที่แนบ

บก.อก.บช.น. ดำเนินการ ดังนี้ ฝอ.1 จัดเตรียมอาหารว่างและน้ำดื่มสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 30 ชุด ,ฝอ.3 ทำหน้าที่เลขานุการ และบันทึกการประชุม ,ฝอ.5 จัดเจ้าหน้าที่บันทึกภาพการประชุม , ฝอ.6 จัดห้องประชุม และจัดเตรียมโสตทัศนูปกรณ์ ให้พร้อม ก่อนเวลา 30 นาที

related