ทำท่าบานปลาย แต่สุดท้ายก็จบลงง่ายๆ สำหรับสถานการณ์ตึงเครียด “เยฟเกนี พริโกซิน” ประกาศนำกองกำลังทหารรับจ้างแวกเนอร์ บุกมอสโก แต่ก็มีบางเงื่อนงำ ที่ยังคงเป็นปริศนาต่อไป
กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกทันที หลัง “เยฟเกนี พริโกซิน” ประกาศนำ กองกำลังทหารรับจ้างแวกเนอร์ บุกมอสโก ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสงคราม “รัสเซีย - ยูเครน” เท่านั้น ที่มีการต่อสู้ยืดเยื้ออยู่ และยังทำให้เก้าอี้ประธานาธิบดีรัสเซียของ “วลาดิเมียร์ ปูติน” สั่นคลอนอีกด้วย แต่สุดท้ายแล้ว รัสเซียก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดย SPRiNG ขอสรุปให้ ดังต่อไปนี้
“พริโกซิน” ลูกน้องใกล้ชิด “ปูติน” ผู้สร้างกองทหารรับจ้าง เพื่อปฏิบัติภารกิจลับให้กับลูกพี่
ตามที่สื่อต่างๆ ได้ให้ข้อมูลไปก่อนหน้านี้ อันที่จริงแล้ว “เยฟเกนี พริโกซิน” เป็นอีกหนึ่งลูกน้องคนใกล้ชิด “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย และก็ได้รับการสนับสนุนจาก “ปูติน” ในการก่อตั้ง กองกำลังทหารรับจ้างแวกเนอร์ เพื่อปฏิบัติภารกิจลับที่ “ปูติน” ไม่สามารถออกหน้าได้ จึงอาจเรียกได้ว่า “แวกเนอร์” เป็นกองกำลังส่วนตัวของ “ปูติน” ได้เลยทีเดียว
แต่สไตล์การบริหารงานของผู้นำการเมืองหลายๆ คน มักเลือกใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง เพื่อให้สามารถคอนโทรล “ลูกน้อง” ป้องกันการถูกโค่นจากคนกันเอง
ตัวอย่างเช่น สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้แนวทางนี้ในการคอนโทรล “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” กับ “พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์” มือขวาและมือซ้าย ทำให้ “จอมพลสฤษดิ์” กับ “พล.ต.อ.เผ่า” มีเรื่องขบเหลี่ยมกัน จนหวิดจะเปิดศึกกันหลายครั้ง แต่ต่อมา “จอมพลสฤษดิ์” ก็สบโอกาสชิงอำนาจ จึงเลือกข้ามขั้นขึ้นไปเปิดศึกกับลูกพี่เลย ทำให้ “จอมพล ป.” ถูกรัฐประหารหลุดจากเก้าอี้นายกฯ ไปในที่สุด
ซึ่งในกรณีของ “พริโกซิน” ไม่ได้ต้องการไปไกลถึงขึ้นโค่นอำนาจลูกพี่ แต่ต้องการเอาคืน “เซอร์เก ชอยกู” รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ให้หายแค้น และด้วยกำลังอยู่ในอาการเลือดขึ้นหน้า ทำให้เรื่องราวใหญ่โตไปไกลจนเกือบสุดกู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สรุปให้ เกิดอะไรขึ้น ทหารรับจ้างแวกเนอร์ ก่อกบฏ บุกรัสเซีย เล็งไล่กลาโหม
"กองทหารแวกเนอร์" คือใคร ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้าย เหตุใดถึงทรยศรัสเซีย
ปมแค้น พริโกซิน VS ซอยกู
หากจะทำความเข้าใจว่า ทำไม “เยฟเกนี พริโกซิน” ตัดสินใจประกาศบุก “มอสโก ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหากับ “ลูกพี่” แต่มีปัญหากับ “เซอร์เก ชอยกู” ก็ต้องรู้จักปูมหลังของ “พริโกซิน” ก่อน
“พริโกซิน” เติบโตมาบนเส้นทางอันธพาล จนสามารถไต่เต้าขึ้นไปถึงระดับเจ้าพ่อได้ ซึ่งจากการนำกองกำลังทหารฯ แวกเนอร์ ปฏิบัติภารกิจได้อย่างโดดเด่นเกินหน้าทหารรัสเซีย ในสมรภูมิยูเครน ก็แสดงให้เห็นว่า “พริโกซิน” ยังเป็นนักยุทธศาสตร์การรบชั้นเยี่ยมอีกด้วย โดยเฉพาะผลงานในการตีเมืองบักมุต
ถึงแม้กองกำลังทหารของ “พริโกซิน” จะรบเก่งเพียงใด แต่ด้วยบุคลิกของเขาที่ออกแนวโผงผาง ตามสไตล์นักเลงรุ่นใหญ่ โดยเขามักบูลลี่กองทัพรัสเซียอยู่บ่อยครั้งว่า รบไม่ได้เรื่อง ส่วน “เซอร์เก ชอยกู” รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ก็ถูก “พริโกซิน” วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการทำหน้าที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการส่งอาวุธและเสบียงให้กองทหารแวกเนอร์อย่างล่าช้า จนทำให้ “พริโกซิน” อดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นเพราะความไม่มีประสิทธิภาพ หรือว่าจงใจกันแน่ ?
กระทั่งจุดแตกหักเกิดขึ้นจากการเปิดเกมของ “เซอร์เก ชอยกู” โดยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. เขาได้ประกาศให้ กองทหารรับจ้างแวกเนอร์ ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงกลาโหม และในวันที่ 24 มิ.ย. ก็ได้เกิดปฏิบัติการทิ้งระเบิดถล่ม กองทหารรับจ้างแวกเนอร์ ทำให้กองกำลังฯ ของ “พริโกซิน” เสียชีวิตไปกว่า 2 พันนาย
ด้วยความแค้นและต้องการทวงคืนความยุติธรรมให้กับลูกน้อง “พริโกซิน” พร้อมทหารฯ แวกเนอร์ จึงยกทัพยึดศูนย์บัญชาการในเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการหลักของรัสเซียในการทำสงครามยูเครน
เมื่อ “พริโกซิน” ประกาศบุกมอสโก “ปูติน” จึงต้องออกโรง
หลังจาก “พริโกซิน” และ ทหารแวกเนอร์ ยึดศูนย์บัญชาการในเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน ได้แล้ว ก็ประกาศให้ ทางการรัสเซียต้องส่งตัว “เซอร์เก ชอยกู” รัฐมนตรีกลาโหม และ “นายพลวาเลรี เกราซิมอฟ” เสนาธิการทหารรัสเซีย มาให้เขา ไม่เช่นนั้นจะเคลื่อนกองกำลังเข้าสู่มอสโก
การประกาศดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการก่อกบฏ ทั้งที่วัตถุประสงค์ของ “พริโกซิน” ไม่ได้มีเจตนาไปไกลถึงขั้นนั้น เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ “ปูติน” ก็ยังคงโอเคกันอยู่ เพียงแต่เลือดเข้าหน้า หลังจากเห็นลูกน้องกว่า 2 พันคนต้องตายไปต่อหน้าต่อตา
และเมื่อเห็น “พริโกซิน” มาไกลจนเอาไม่อยู่ ก็ทำให้ “ปูติน” ต้องออกมาแสดงบทบาทในฐานะผู้นำรัสเซีย ประณามการกระทำดังกล่าวและเรียก “พรีโกซิน” ว่า คนทรยศหักหลัง พร้อมปฏิเสธเงื่อนไขของเขาอย่างสิ้นเชิง
เพราะถึงแม้ “ปูติน” จะรู้ว่า “เซอร์เก ชอยกู” เป็นฝ่ายเริ่มก่อน และยั่วยุจนทำให้ “พริโกซิน” ฟิวส์ขาด แต่ถ้า “ปูติน” ยอมทำตามข้อเรียกร้องของ “พริโกซิน” เขาก็จะสูญสิ้นสถานะผู้นำทันที จึงต้องยืนหยัดในหลักการ ต่อต้านทุกกระทำที่เข้าข่ายส่งผลกระทบต่อความมั่นคง
“พริโกซิน” ยอมถอย และเงื่อนงำที่ทำให้เขาฟิวส์ขาด ?
จากการประกาศกร้าวของ “ปูติน” ว่าไม่ยอมทำตามเงื่อนไขของ “พริโกซิน” และการเคลื่อนกองกำลังทหารแวกเนอร์ก็ใกล้ “กรุงมอสโก” ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สถานการณ์ในรัสเซียตึงเครียดอย่างสุดๆ
และเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ช่วงกลางดึกของเมื่อคืนนี้ “อเล็กซาเดอร์ ลูคาเชนโก” ประธานาธิบดีเบลารุส ซึ่งมีความสนิมสนมกับทั้ง “ปูติน” และ “พริโกซิน” ก็ออกมาประกาศว่า จากการที่ได้ทำหน้าที่ช่วยเจรจากับ “พริโกซิน” ผลปรากฎว่า “พริโกซิน” ยอมรับข้อเสนอของ “รัสเซีย” ต่อมา “พริโกซิน” ก็ออกมาประกาศถอย โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดในแผ่นดินเกิด
ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า การที่ “พริโกซิน” ยอมยุติศึกในครั้งนี้ จะถูกยกเลิกข้อหากบฏ โดยเขาขอลี้ภัยไปอยู่เบลารุส และผู้ที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ทั้งหมดได้รับการอภัยโทษ ส่วนทหารแวกเนอร์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็สามารถเข้าร่วมกองทัพของรัสเซียได้
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ชนวนเหตุที่ “พริโกซิน” ประกาศบุก “มอสโก” ไม่ได้ซับซ้อนอะไรนัก แต่เกิดจากอาการเลือดขึ้นหน้า เพราะตัวเองและพวกถูกรังแกก่อน และไม่ได้โกรธเคืองอะไรกับลูกพี่ใหญ่ เพียงแต่อารมณ์หุนหันพลันแล่นพาไป แล้วทำให้ “ปูติน” พลอยเกือบซวยไปด้วย
และถึงแม้หน้าฉาก “ปูติน” จะมีท่าทีแข็งกร้าว แต่ในการพูดคุยกันเบื้องลึก ที่มอบหมายให้ “อเล็กซาเดอร์ ลูคาเชนโก” ประธานาธิบดีเบลารุส เป็นผู้เจรจา ก็เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งถึงแม้กองกำลังทหารแวกเนอร์จะเก่งกาจเพียงใด แต่เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ยังห่างชั้นจากกองทัพรัสเซียเยอะ ประกอบกับข้อเสนอ “ที่ไม่ต้องรับโทษใดๆ” ทุกอย่างจึงจบลงได้อย่างรวดเร็ว
แม้สถานการณ์วิกฤตจะคลี่คลายไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังเป็นเงื่อนงำอยู่ก็คือ การเปิดฉากถล่มทหารแวกเนอร์จนเสียชีวิตกว่า 2 พันนายนั้น “เซอร์เก ชอยกู” สั่งการเอง หรือได้รับไฟเขียวจากใคร ? รวมการสั่งเปลี่ยน ผู้บัญชาการสงครามยูเครน จาก “เซอร์เกย์ ซูโรวิคิน” เป็น “นายพลวาเลรี เกราซิมอฟ” ซึ่งเคยมีการวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะ “ปูติน” ไม่ปลื้มที่ “ซูโรวิคิน” มีความสนิทสนมกับ “พริโกซิน” ซึ่งเขาเริ่มรู้สึกว่าชักคุมไม่ค่อยได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า 2 เหตุการณ์นี้ มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ ?