svasdssvasds

สรุปให้! ดราม่า "ไข่ต้ม" โซเชียลวิจารณ์สนั่น ความพอเพียงหรือแค่อดอยาก

สรุปให้! ดราม่า "ไข่ต้ม" โซเชียลวิจารณ์สนั่น ความพอเพียงหรือแค่อดอยาก

สรุปให้! ดราม่าร้อน หนังสือวิชาภาษาไทย ป.5 ให้ข้อคิดเรื่องคุณค่าชีวิต ผ่านเรื่องราว "ด.ญ.ใยบัว" กินข้าวคลุกน้ำปลา กับไข่ต้มครึ่งซีก "ไข่ต้ม" จากตำราเรียนสู่ดราม่าในชีวิตจริงและโซเชียลมีเดีย ล่าสุด สพฐ.สั่งแก้เนื้อหาบนหนังสือ โดยเติมคำว่า "เป็นเพียงการยกตัวอย่าง"

 กลายเป็นดราม่าอีกแล้ว กรณีที่มีการเผยแพร่แบบเรียนของนักเรียนชั้น ป.5 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการกินไข่ต้มเพื่อความพอเพียง ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งเรื่องความไม่เหมาะสมด้านโภชนาการ และการตีความถึงความพอเพียงอย่างผิดความหมาย จนหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาปรับปรุงเรื่องนี้

 ที่มาของประเด็นไข่ต้ม เริ่มมาจาก เพจเฟซบุ๊ก มาดามแคชเมียร์ ได้โพสต์ภาพหนังสือวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยในเนื้อหานั้น กล่าวถึงเรื่องราวของ ด.ญ.ใยบัว เด็กที่บ้านมีฐานะร่ำรวย มานั่งตัดพ้อชีวิตกับข้าวปุ้น เพื่อนรักที่โรงเรียน ว่า "อยากตาย" หลังจากพ่อแม่ไม่เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือใหม่ให้ เพราะเห็นว่าสิ้นเปลือง ข้าวปุ้นจึงชวนเพื่อนไปที่บ้านเด็กกำพร้าที่เธออาศัยอยู่ เพื่อให้เพื่อนไปเรียนรู้ชีวิตที่แตกต่าง เผื่อจะเปลี่ยนความคิด และเห็นคุณค่าของชีวิตมากยิ่งขึ้น

โดยเนื้อหาที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์ คือ การบรรยายอาหารการกินของเด็กภายในบ้านของข้าวปุ้นว่า 

เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวัน ทุกคนนั่งล้อมวงเป็นวงใหญ่ กับข้าวแบ่งเป็น 2 ชุด จานแรกเป็นผัดผักบุ้ง จานที่ 2 เป็นไข่ต้มผ่าครึ่งตามจำนวนคน โดยแต่ละคนตักผักบุ้งพอรับประทาน และไข่ต้มคนละซีก

 ทั้งนี้ในเนื้อหา ข้าวปุ้นยังได้แนะนำให้ใยบัว ใช้ช้อนบี้ไข่กับข้าว และเหยาะน้ำปลา เพื่อให้กินกับและข้าวได้อย่างพอดีกัน ซึ่งผู้โพสต์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า

โปรตีนจากไข่ต้มหนึ่งซีก 1.75 กรัม ข้าวคลุกน้ำปลาโซเดียมหนักๆ ผัดผักบุ้งก็มีโซเดียมจากเครื่องปรุงแน่ๆ ความสุขอยู่ที่ใจ พอเพียงน้ำตาจะไหล FYI, เด็กโตวัย 7-14 ปี ต้องการโปรตีนวันละ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. สมมติว่าเด็กน้ำหนัก 40 กก.ก็ต้องกินโปรตีน 40 กรัมต่อวัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• สรุปให้! ดราม่า ติ๊นา ศุภนาฎ ขับรถชนคนเจ็บสาหัส เจอขุดยังเที่ยวสงกรานต์ต่อ

• สรุปให้! เบสท์-ตงตง ปิดฉากรักหวาน เกิดดราม่าอะไรขึ้นบ้าง?

• สรุปให้ อดีตผู้ประกวดมิสแกรนด์สุพรรณฯ ร่วมมือแฟนหนุ่ม อุ้มชาวจีนรีดค่าไถ่

 ทั้งนี้หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การกินอาหารของเด็กในเนื้อหานั้นไม่ถูกกับหลักโภชนาการ สิ่งที่ทำนั้นไม่เรียกพอเพียง แต่ให้เรียกว่าอดอยาก

จากประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่ในโลกโซเชียลที่วิพากษ์วิจารณ์ ยังมีเหล่าบรรดานักวิชาการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็ได้เผยทัศนคติและมุมมองเรื่องนี้

 โดย ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า แม้ว่านี่จะเป็นเรื่องเหมือนนิทาน นิยายแต่งขึ้น ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน และอาจจะไม่สมจริงบ้าง แต่ก็เห็นด้วยว่า สังคมไทยควรจะมีพัฒนาการเรื่องโภชนาการของเด็กทั้งประเทศให้ดีขึ้น แม้จะเป็นเด็กในบ้านเด็กกำพร้า

 

 อีกท่านคือนพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "ไข่ครึ่งซีก+ข้าวคลุกน้ำปลาอร่อยที่สุดในโลก" โภชนาการวัยเรียนแบบนี้ได้จริงๆ หรือ สิ่งสำคัญในอาหารที่เด็กควรได้ ไม่ใช่เรื่องของ "พลังงาน" หรือ แค่อิ่มท้องอย่างเดียว

แต่สิ่งสำคัญนั่น คือ "โปรตีน" ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของ สมองกล้ามเนื้อ และการทำงานของ เอนไซม์ในระบบต่างๆ ของร่างกาย ยังมีเรื่องของ วิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญ ที่ไม่ควรขาดในเด็กอีก อาหาร จึงไม่ใช่เพียง "แค่อิ่มท้อง" หรือ "แค่อร่อยปาก" แต่ อาหารที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต พัฒนาการทางสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน

ถ้าวิสัยทัศน์มีเพียง แค่ "อิ่มท้อง" "สุขใจ" แต่ไม่มองให้เห็นถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อเด็กของเรา นี่คือเรื่องน่ากังวลมากๆ สำหรับ "อนาคตของชาติ" ภายใต้การกำหนดทิศทางการศึกษาจากคนบางกลุ่ม ที่ยังล้าหลัง ของบ้านเราแบบนี้

นอกจากนี้ยังมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้โพสต์คลิปวิดีโอกับลูกชายขณะกำลังกินข้าวกับไข่ต้ม พร้อมสอนว่า

วันนี้วันหยุดเราก็กินอาหารเช้าแบบง่ายๆ สบายๆ ไม่ต้องกินหรู อยู่สบายทุกมื้อนะ วันนี้เรากินไข่ต้มกัน โดยถามลูกว่ากินไข่ทุกวันใช่ไหมครับ ลูกก็บอกว่า ไม่ค่อยทุกวัน กินขนมปัง จากนั้นจึงสอนลูกว่า ไข่ต้มมีประโยชน์ มีโปรตีน

โดยมีแคปชั่นระบุว่า "ไข่ต้ม ลูกชาย ชอบกิน อร่อย ดี มีประโยชน์ครับ พร้อมติดแฮชแท็ก #วิถีพ่อ #Saveไข่ต้ม #ไข่ต้ม #ไข่ต้มเป็นอาหารที่ไม่มีชนชั้น #อยู่อย่างพอเพียง"

 รวมไปถึง แพรรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ไพรวัลย์ วรรณบุตร ระบุว่า “ดิฉันเคยโตมาด้วยการกินไข่ต้ม 1 ลูกแบ่งกัน 3 คน ดิฉันจึงอยากบอกว่า การกินหลากหลายจำเป็นมากค่ะ และการขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเลย จบ”

 ล่าสุดวันนี้นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เผยว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในตำราเรียนภาษาพาที ป.5 เตรียมให้คณะกรรมการสำนักวิชาการหารือกับผู้เขียน แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนเรื่องโภชนาการอาหารใหม่ ในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่า ให้เด็กกินข้าวไข่ต้มครึ่งซีกคลุกน้ำปลา เป็นอาหารที่ไม่ครบ 5 หมู่โดยจะมีการเติมข้อความย้ำว่า เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น

 ด้านมุมมองของ นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ เผยว่า ในฐานะนักโภชนาการ มองว่าการยกตัวอย่างไข่ต้มครึ่งซึก เหยาะน้ำปลา และราดด้วยน้ำผัดบุ้ง เป็นการยกตัวอย่างในแบบเรียนชั้น ป.5 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำภาษามาผูกกับทักษะชีวิต และมายกตัวอย่างดังกล่าว แต่กลับทำให้ขัดกับความรู้สึกทางวิชาการ และอาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับเด็ก ป.5 ว่าจะเข้าใจว่ากินเท่านี้ ชีวิตมีความสุขได้หรือไม่

 ทางโภชนาการ ไข่ต้มครึ่งซึก เหยาะน้ำปลา และราดด้วยน้ำผัดบุ้ง จะไม่ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่แน่นอน จึงเสนอให้ศธ.แก้ไขหรือขยายความเนื้อหาที่สอนในตำราให้ชัดเจน เพื่อให้เด็กนักเรียนชั้น ป.5 ที่เรียนภาษาไทยจากตำราเล่มนี้เข้าใจ ไม่สับสน หรือนำไปทำตามในชีวิตจริง

 นอกจากนี้ เสนอว่าหากกระทรวงศึกษาธิการจะทำเนื้อหาวิชาการ หรือตำราเรียนแบบนี้ ที่เกี่ยวกับวิชาการอื่น ควรมีนักวิชาการด้านอื่นๆ เช่น นักโภชนาการ นักจิตวิทยา ไม่ใช่แค่มีเพียงด้านการศึกษาเท่านั้นอย่างไรก็ตาม ในมุมของนักโภชนาการ มองว่ากระแสไข่ต้ม สะท้อนชัดว่าสังคม และผู้ปกครองตื่นตัว และโยงไปถึงการกินอาหารกลางวันในโรงเรียน 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก มาดามแคชเมียร์ , รมว.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ , Jiraruj Praise , ไพรวัลย์ วรรณบุตร

 

 

related