หมอนิธิพัฒน์ เผยโควิดโอไมครอน XBB.1.16 อาการยังไม่รุนแรง ยังไม่ควรกังวล คาดไทยติดเชื้อโควิดวันละ 5,000-10,000 เป็นแค่พีคเล็กๆ จะลดลงใน 2-3 สัปดาห์
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด XBB.1.16 ผ่านเฟวบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า...เมื่อวานรับทราบการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด แล้วอดไม่สบายใจต้องมาแสดงความเห็นวันนี้
เรื่องสุดท้ายจากทั้งหมดสามเรื่องคือ มีการเผยแพร่ในสื่อทั่วไปอย่างดารดาษ ว่าโอไมครอน “Arcturus หรือ XBB.1.16 (.1)” อาจทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในประเทศ แถมทำให้มีอาการรุนแรงได้ เช่น เลือดออกในทวารต่างๆ ของร่างกาย ที่จริงแล้วอาการของผู้ติดเชื้อโควิดจะมากจะน้อยขึ้นกับปัจจัยสองด้าน คือ ปัจจัยทางด้านเชื้อ และปัจจัยทางด้านผู้ติดเชื้อ ในแง่เชื้อปัจจุบันโอไมครอนทุกสายตระกูลย่อย ยังไม่มีตัวใดรุนแรงกว่าบรรพบุรุษ ในแง่ผู้ติดเชื้อ ถ้ามีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งจากการเคยติดหรือเคยฉีด โอกาสโรคจะรุนแรงน้อยมากๆ ถ้ารุนแรงก็มักจะเป็นคนที่มีโรคทางร่างกายบางอย่างอยู่ก่อน หรือเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในตัวตอบสนองต่อการติดเชื้อรุนแรงเกินเหตุ
ข่าวที่เกี่ยข้อง :
ป่วยโควิด19 สิทธิบัตรทอง พบแพทย์ ระบบ Telemedicine ผ่าน 4 แอปฯ ส่งยาฟรีถึงบ้าน
กรมวิทย์ เผย โควิด XBB.1.16 พบในไทยตั้งแต่ มี.ค. รวม 27 ราย ยันไม่แรงเท่าเดลตา
ถ้าดูข้อมูลการเฝ้าระวังในบ้านเราเอง เชื้อนี้ตรวจพบในประเทศตั้งแต่กลางเดือนที่แล้ว และค่อยเพิ่มมากขึ้นจนตระกูล XBB นี้กำลังจะแซงหน้าตระกูล BN แต่ทั้งสองชนิดนี้ก็ร่วมบรรพบุรุษ BA.2 มาด้วยกัน ส่วนสายตระกูล BQ ที่มาจากบรรพบุรุษ BA.5 ดูเหมือนจะเร่งเครื่องไม่ขึ้นในบ้านเรา ในทางการแพทย์จึงไม่ได้กังวลในแง่ความรุนแรง และข้อมูลการเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิดอาการหนัก ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายเกินสัดส่วนที่ควรจะเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อทั้งหมด ขณะนี้ผมประมาณการว่าคนในประเทศติดเชื้อราววันละ 5,000-10,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นพีคเล็กเมื่อเทียบกับพีคของปีก่อน และน่าจะค่อยๆ ลดลงในสองสามสัปดาห์ข้างหน้า ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะเชื้อตัวนี้อาจแหวกภูมิได้บ้าง แต่ส่วนหลักน่าจะเป็นเพราะเราเปิดประเทศให้คนนอกและคนของเรามากขึ้น อีกทั้งคนที่เคยติดโอไมครอนช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน ก็ได้เวลาจะติดซ้ำอีกรอบเมื่อมีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น แต่ผลเสียจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นนี้ผมคิดว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ของประเทศในการเดินหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเลือกตั้งที่เราหวังว่าอาจจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้บ้าง
การให้ความเห็นต่อเรื่องสุขภาพสู่สาธารณะ ผมถือว่านักวิชาการต้องถือหลักสามประการ คือ
1. ให้ข้อมูลที่มีหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการเพียงพอ ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกส่วนบุคคลหรืออิทธิพลทางการเมืองมากำหนด
2. ถ้าส่วนใดเป็นการแสดงความเห็นส่วนบุคคล ต้องพร้อมรับผิดชอบ รวมถึงยอมแก้ไขเมื่อมีข้อมูลใหม่มายืนยัน
3. สื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็น และเหมาะสมกับระดับการรับรู้ของผู้ฟัง พูดให้เขาเข้าใจและเชื่อตามที่เรารู้ ไม่ใช่พูดเพื่อแสดงว่าเรารู้แล้วให้เขาเชื่อตาม