โฆษกรัฐบาล เตือน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม รัฐฯ ทบทวนสิทธิ์โอนเงินเข้าบัญชี 5,000 บาท ภายในเดือนมิ.ย.นี้ วอนอย่าแชร์ต่อ ป้องกันความสับสนและเข้าใจผิด
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการแชร์และส่งต่อข้อมูล “รัฐฯ ทบทวนสิทธิโอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 5,000 บาท ภายในเดือนมิถุนายนนี้” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand : AFNC) ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลพร้อมยืนยันว่า “เป็นข้อมูลเท็จ” กระทรวงการคลังไม่มีนโยบายโอนเงิน หรือแจกเงิน 5,000 บาทเข้าบัญชีในเดือนมิถุนายนนี้แต่อย่างใด เป็นข่าวปลอมจากผู้ไม่หวังดี ดังนั้น ขอประชาชนอย่าได้หลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว โดยประชาชนสามารถตรวจสอบและรับข้อมูลข่าวสารจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ที่เว็บไซต์ www.cgd.go.th หรือโทร 02 127 7000 หรือผ่านทางแฟนเพจ กรมบัญชีกลาง The Comptroller General’s Department
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กกต. แจงแล้ว ปม ส.ส.พรรคก้าวไกล จะโดนใบแดงเกือบ 10 คน เป็นความเท็จ
กกต. ยัน บัตรเขย่ง เลือกตั้งล่วงหน้า ที่อ.หาดใหญ่ 581 คน เป็นข่าวเท็จ!
กติกาการเลือกตั้ง 2566 : ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง หากแจกโดย กกต. ต่างกันอย่างไร ?
ขอความร่วมมือประชาชนอย่าได้ส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าวในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อีก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดขยายไปในวงกว้างเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารใด ๆ มา หากมีความสงสัยหรือไม่แน่ใจในข้อมูลเหล่านั้น ขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและความถูกต้องจากหน่วยงานเจ้าของเรื่องหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเผยแพร่ หรือแชร์ข้อมูลออกไปให้บุคคลอื่น เพราะหากแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนอกจากจะก่อให้เกิดความสับสน และอาจนำไปสู่การหลอกลวงสร้างความเสียหายแก่ประชาชนได้แล้ว ยังผิดกฎหมายด้วย
“กระทรวงยุติธรรมระบุกรณีพฤติกรรมการกด Like และกด Share ของผู้ที่เล่นโซเชียลมีเดียหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ควรรอบคอบ โดยเฉพาะการกดแชร์ ถือเป็นการเผยแพร่ หากการแชร์ข้อมูลนั้นไปกระทบกับบุคคลอื่น อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายอนุชาฯ กล่าว