ข่าวบิดเบือน! จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องลูกจ้างโพสต์บ่นเจ้านายสามารถเลิกจ้างได้ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างนั้น ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากกรณีที่มีการบอกต่อข้อมูลโดยระบุว่าลูกจ้างโพสต์บ่นเจ้านายสามารถเลิกจ้างได้ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้าง ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่าหากข้อความที่โพสต์ลงสื่อโซเชียลเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทนายจ้าง หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ถือว่าพฤติการณ์ของลูกจ้างมีความผิดวินัยร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่หากข้อความที่โพสต์เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ หรือเปรียบเปรย กรณีนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง หากนายจ้างเลิกจ้าง โดยที่ไม่เคยตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ข่าวปลอม! อย่าหลงเชื่อ PTT เปิดให้ลงทุนหุ้นออนไลน์ ในราคาเพียง 1,000 บาท
ข่าวปลอม! แอปฯเป๋าตัง ร่วมมือกับ TTB ให้ยืม 10,000 บาท สามารถถอนเงินจาก ATM ได้
ต้องดูพฤติการณ์ประกอบการกระทำว่าข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทนายจ้างจนได้รับเสียหายต่อชื่อเสียงหรือไม่จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายต่อกิจการหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น คดีที่เกิดขึ้นจริง ลูกจ้างโพสต์ข้อความและรูปภาพในเฟซบุ๊กว่า “นี้หรือรถที่ใช้ขนเงินเป็นล้าน กูละเชื่อ” เป็นการลงข้อความและรูปภาพในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง ชี้ให้เห็นเจตนาไม่สุจริต ย่อมทำให้นายจ้างซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทรัพย์สินที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจเป็นสำคัญอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ถือเป็นการกระทำอันเป็นปกปักษ์กับนายจ้าง กรณีมีเหตุผลสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และในอีกกรณีคือ ลูกจ้างพูดกับนายจ้างว่า “ไม่ใช่ลูกผู้ชาย” เนื่องจากนายจ้างไม่ให้ยืมเงินจึงรู้สึกผิดหวังน้อยใจ และพูดกับพนักงานอื่นว่า “บริษัทขี้เหนียว ไม่ขึ้นเงินเดือน ไม่ให้โบนัสและเงินแต๊ะเอีย” ถือเป็นเพียงคำพูดไม่สุภาพไม่ถึงกับเป็นการเสียดสี เหยียดหยาม หรือดูหมิ่นผู้บังคับบัญชา จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกองสวัสดิการแรงงาน กลุ่มงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน โทร 0 2660 2180 และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.labour.go.th หรือโทร 1546 หรือ 1506 กด 3
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : หากข้อความที่โพสต์ลงสื่อโซเชียลเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทนายจ้าง หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายนายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่จริงๆแล้วต้องดูตามแต่กรณี หากเป็นข้อความที่ไม่ร้ายแรงนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน