ในวันวาเลนไทน์นี้ ขอเชิญชวนทุกคนย้อนกลับไปสัมผัสเรื่องราวของมิตรภาพและความรักในวัยเด็กผ่านภาพยนตร์เรื่อง "แฟนฉัน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของมิตรภาพที่เต็มไปด้วยความสดใส ความกลัว ความเศร้า การตัดสินใจในชีวิต และความทรงจำที่มีต่อรักครั้งแรก
ในวาระวันแห่งความรัก อันเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ครุ่นคิด ทบทวน และดื่มดำกับความสัมพันธ์ แต่กว่าจะผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ เราทุกคนล้วนเจ็บปวด เรียนรู้ และสนุกสนานกับทุกความรักที่เกิดขึ้น ได้บทเรียน หรือบางคนอาจจะเข็ดกับความรัก
โอกาสดี ๆ แบบนี้ SPRiNG จึงชวนทุกคนย้อนกลับไปวิเคราะห์ “ความรัก-ความสัมพันธ์” ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” ผลงานที่ออกฉายในเมืองไทยเป็นครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2546 คนดู ณ เวลานั้นอาจเป็นเด็กมัธยม เวลานี้ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว
คำถามก็คือ นิยามความรักของเราเปลี่ยนไปไหม ความทรงจำที่มีต่อรักแรกยังชัดแจ้ง หรือเบาบางลงไปแล้ว ความรักต่อเพื่อน ๆ ที่เติบโตมาด้วยกัน ความรักต่อพ่อแม่ ที่เราอาจเคยรำคาญ และปฏิเสธในวันนั้น กลับมาในวัยนี้ เรามีมุมมองต่อสายสัมพันธ์เหล่านี้อย่างไร?
**มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
ก็เพราะเป็นผู้ใหญ่ รู้สึกอะไรก็ห้ามแสดงออก ก็เพราะเป็นผู้ใหญ่ จึงไม่อนุญาตให้ตัวเองผิดพลาด ก็เพราะเป็นผู้ใหญ่ จึงต้องไม่ร้องไห้ฟูมฟายเหมือนเด็ก...
หากคุณมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิต ณ ช่วงเวลาใดก็ได้ คุณจะเลือกนั่งไทม์แมชชีนไปที่ช่วงเวลาไหนของชีวิต
เมื่อโลกหมุนไป ตัวเลขบอกอายุของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ตามมาก็คือ กรอบประสบการณ์ เมื่อถึงวัยหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าคุณจะเพิ่งเรียนจบ ไม่ว่าคุณกำลังทำงานอยู่ ไม่ว่าคุณกำลังลาออกจากงาน ไม่ว่าคุณกำลังตัดสินใจแต่งงาน หรือไม่ว่าคุณกำลังตัดสินใจมีลูก ชีวิตย่อมจะสาดเทอุปสรรคมาให้เราอยู่เสมอ ๆ จนบางครั้งเราก็ได้แต่ถามว่า พอได้หรือยัง? ยังมีอีกเหรอ? ฉันเจอมาหนักแล้วนะ...
จนบางครั้ง ช่วงเวลาที่เรากำลังอ่อนแอไม่ว่าทั้งร่างกายหรือจิตใจก็แล้วแต่ ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาก็ทำให้เราคิดไปถึงขั้นที่ว่า ขอหายไปจากตรงนี้แปปนึงได้ไหม? ธรณีสูบฉันลงไปเดียวนี้! และเมื่อเวลาที่เราอ่อนล้า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่มักนึกถึงช่วงเวลาดี ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต
ว่ากันว่าช่วงเวลาที่เรามีความสุขมักแตกต่างกัน ย้อนไปไกลที่สุดก็อาจจะเป็นได้ของเล่นครั้งแรก เปลี่ยนจากดินสอมาใช้ปากกาเป็นครั้งแรก (เขียนสะดวกขึ้นมากๆ) สอบติดคณะที่อยากเข้า มีแฟนคนแรก หรือที่แจ่มแจ้งในความทรงจำเรามากที่สุดเห็นจะเป็น ‘รักครั้งแรก’
‘แฟนฉัน’ เป็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กสองคน ที่มีบ้านอยู่ใกล้กัน และมีร้านขายของชำคั่นกลาง ‘เจี๊ยบ’ และ ‘น้อยหน่า’ เป็นตัวละครหลักของภาพยนตร์ที่จะพาเราไปสำรวจความสดใส โลกที่เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าค้นหา ชีวิตในวัยเป็นเด็กนักเรียน ตัดผมเกรียน หรือถักเปียสองข้าง เล่นกระโดดยาง ได้ฝึกก้าวข้ามความกลัวในจิตใจ หรือแม้แต่ลิ้มรสความเศร้าที่คืบคลานเข้ามาในช่วงที่หัวใจยังไร้เดียงสา
มหากาพย์ศึกชิงลูกค้าร้านตัดผมระหว่าง ‘พ่อของเจี๊ยบ’ และ ‘พ่อของน้อยหน่า’ ที่โชคชะตากำหนดให้มาอยู่บ้านใกล้กัน และดันเป็นช่างตัดผมกันทั้งคู่ หากเรามองผ่าน ๆ จะเห็นว่า 2 บ้านนี้คือคู่แข่งกันในเชิงธุรกิจอย่างชัดเจน
พ่อของเจี๊ยบ ที่ดูเป็นคนโอนอ่อนผ่อนตามลูกชายคนนี้ไปเสียหมด คอยปกป้องลูกชายจากคำพูดของภรรยาอยู่เป็นประจำ และขึงขังในอุดมการณ์ของตัวเองถึงขั้นที่ว่า ถ้าใครเลือกไปตัดผมร้านโน้น ก็ไม่ต้องมาตัดผมร้านนี้ เหมือนที่เจี๊ยบพูดถึงพ่อว่า
“นิสัยพ่อผมเนี่ย แกจะงอนลูกค้าทันที ถ้าคนนั้นไปตัดผมร้านคู่แข่ง”
เราจะเห็นว่า ไม่มีความสัมพันธ์ หรือบทสนทนาใดใดเกิดขึ้นระหว่าง ‘สองพ่อ’ นี้สักเท่าไหร่ แต่กระนั้น สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวกลับสนิทสนมกลมเกลียวกันเป็นอย่างดี เจี๊ยบและน้อยหน่าเป็นคู่หูกัน เมื่อไหร่ที่เจี๊ยบตื่นสาย น้อยหน่าก็สามารถเดินขึ้นไปปลุกได้เลยถึงที่นอน หรือ ‘สองแม่’ ก็พูดคุยถูกคอ แถมยังชวนกันออกไปเข้าร้านเสริมสวยอยู่เป็นประจำ
กลับกัน ศิลปินเจ้าอารมณ์ ผู้ผันตัวมาเป็นช่างตัดผมฝีมือดีอย่าง ‘พ่อของน้อยหน่า’ ที่ก็มีลูกค้าขาประจำตบเท้ามาแปลงโฉมศีรษะอยู่มาก แต่เขากลับมองว่าไม่มีเรื่องคู่แข่งอะไรหรอก ใครเดินเข้ามาตัดผม เขาก็ตัดให้ได้ทั้งนั้น
จนกระทั่งนำมาสู่ฉากสำคัญของเรื่อง หลังจากที่เจี๊ยบตัดยางของน้อยหน่าขาดสะบั้น และเจี๊ยบก็รู้สึกผิดขึ้นมา จึงอยากจะเอ่ยปากขอโทษ หนังถ่ายทอดออกมาในเชิงที่ว่า ลูกคนนี้ยอมแลกอุดมการณ์ของพ่อตัวเอง และยอมตบเท้าเข้ามาตัดผมที่ร้านของพ่อน้อยหน่า เป็นสองเส้นระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่ขนานกันไปในเหตุการณ์นี้
ถึงตรงนี้อยากชวนคิดสักเล็กน้อยว่า ณ สถานการณ์นี้ คุณคิดว่าเจี๊ยบต้องการขอโทษน้อยหน่าจากใจจริง จึงทำวิธีไหนก็ได้ให้ตัวเองได้มีโอกาสได้พูดคุยกับน้อยหน่า จนไม่สนใจเลยว่าถ้าพ่อรู้เข้า พ่อจะโกรธ และรู้สึกเสียหน้าเป็นอย่างมาก
โถ เด็กน้อยไร้เดียงสา...
เจี๊ยบคงไม่ได้คิดถึงขั้นที่ว่าอุดมการณ์ของพ่อ ลูกชายก็ต้องยึดถือด้วย เจี๊ยบน่าจะยังคิดไม่ถึงขั้นนี้
เสียด้วยซ้ำ เจี๊ยบแค่ทำในสิ่งที่เขารู้สึกว่าต้องทำ เจี๊ยบตัดยางน้อยหน่าจนน้อยหน่าร้องไห้ และ
’เจี๊ยบไม่เคยทำน้อยหน่าร้องไห้’
แม้เราจะรู้ดีว่าผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ พ่อของเจี๊ยบโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ และรับไม่ได้ที่เจี๊ยบเลือกไปตัดผมร้านคู่แข่ง
“คุณสมัย ทำแบบนี้มันล้ำเส้นกันหนิ”
“ก็ถ้าลูกมันไม่อยากตัดกับพ่อมัน แล้วผมไปเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ” พ่อน้อยหน่ากล่าวโดยน้ำเสียงเรียบเฉย
เมื่อพายุลูกใหญ่สงบลง พ่อของเจี๊ยบก็เหมือนจะได้ครุ่นคิดอะไรบางอย่าง แม้ไฟจะสุมอยู่เต็มอก แต่เห็นทรงผมแหว่ง ๆ ของลูกชายแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะจัดการทรงผมให้เรียบร้อย หากเราปะติดปะต่อเนื้อเรื่องจะพบว่า จริง ๆ แล้ว พ่อของเจี๊ยบก็ไม่ได้ล่วงรู้ถึงเหตุผลของเจี๊ยบด้วยว่าลูกชายไปตัดผมร้านคู่แข่งทำไม
หนังโชว์ให้เราเห็นว่า อุดมการณ์ที่พ่อของเจี๊ยบถือครองอาจจะไม่มีอยู่จริงระหว่างทั้งสองบ้านนี้ เห็นได้จากฉากที่พ่อของน้อยหน่าก่อนจะพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่อื่น เขาได้ตบเท้าเข้ามาขอให้พ่อของเจี๊ยบตัดผมให้เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งสุดท้าย
มิเพียงแค่เส้นผมที่ขาดออก แต่เป็นอุดมการณ์อันปวงเปล่าในใจของพ่อของเจี๊ยบที่เทอะทะเอาเองว่าบ้านเราเป็นคู่แข่งกัน สิ่งนี้ก็ขาดสะบั้นลงไปด้วย สองตัวละครพ่อ บ่งบอกถึงความแตกต่างของผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี คนหนึ่งเป็นน้ำ คนหนึ่งเป็นไฟ คนหนึ่งเป็นหยิน คนหนึ่งเป็นหยาง คนหนึ่งครุ่นคิด คนหนึ่งไม่คิด
เป็นแม่ก็ต้องเข้าใจลูกสิ...
เป็นลูกก็ต้องฟังแม่บ้างสิ...
พูดถึงสองพ่อไปแล้ว จะไม่พูดถึง ‘สองแม่’ ก็กะไรอยู่ แม่ของน้อยหน่า ซึ่งแสดงโดยคุณ... เห็นจะเป็นแม่ที่ดูแลประคบประหงมลูกสาวคนนี้เป็นอย่างดี น้อยหน่าเป็นเด็กร่าเริง เลี้ยงง่าย นิสัยน่ารัก ผู้ใหญ่อยู่ใกล้ก็ต้องเอ็นดูเธอเสียทุกราย แถมลูกสาวคนนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรให้แม่ต้องลำบากใจ
กลับกัน ภาพที่เราเห็นได้อยู่บ่อย ๆ ก็คือ เจี๊ยบมักโดนแม่บ่นต่อยหอยอยู่เป็นประจำ เนื่องจากเจี๊ยบมีพฤติกรรมที่ชวนปวดหัวไม่น้อยเช่น นอนตื่นสาย กลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ ไปเที่ยวเตร่ก่อน การบ้านว่ากันทีหลัง หรือแม้กระทั่งกลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเจี๊ยบมักโดนก้านมะยมของแม่ลงคาถาที่ก้นอยู่บ่อย ๆ แต่ทั้งหมดที่ทำไปก็เพราะเป็นห่วงนั่นแหละนะ
แม้ดูเหมือน ‘สองแม่’ จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และไม่ใช่แค่เราที่รู้สึก แต่เจี๊ยบก็รู้สึก...
“ทีแม่ล่ะ แม่ก็ไม่เห็นเหมือนแม่คนอื่นเลย แม้น้อยหน่าเขายังไม่ตีลูกเขาเลย”
คงเป็นเรื่องธรรมดา ที่เด็กอย่างเจี๊ยบจะโพล่งคำถามออกไปแบบนั้น ก็เพราะเขาเห็นตัวอย่างมา แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับไม่ใช่แบบที่เขาคิด แต่ก็อย่างว่า แม่ลูกพูดจาถากถางกันเล็ก ๆ น้อย ๆ น่าจะเป็นฉากที่หลายคนเข้าอกเข้าใจทั้งสองฝ่ายอยู่ไม่น้อย
แล้วคุณล่ะ ตอนเด็ก ๆ คุณเหนียมอายที่จะแสดงออกในสิ่งที่รู้สึกหรือไม่ แล้ว ณ ปัจจุบัน คุณยังเคอะเขินที่จะแสดงออกในสิ่งที่รู้สึกอยู่หรือเปล่า
ฉากที่ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของเส้นแบ่งความกล้า/ไม่กล้า ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่คือ ฉากงานวันเด็ก แม่ของเจี๊ยบและน้อยหน่าตบเท้ามีเฝ้ารอชมการแสดงของเด็ก ๆ และรวมถึงน้อยหน่าด้วย เตรียมดอกไม้มาเสียดิบดี กลับเคอะเขินจะเดินไปให้เสียอย่างนั้น
ถ้าเราจะมองว่า ก็แม่น้อยหน่าเขาเป็นคนขี้อาย ก็ย่อมมองได้ แล้วแม่เจี๊ยบที่นั่งอยู่ด้วยกันล่ะ ก็อาจจะอายเหมือนกัน คนอยู่ตั้งเยอะแยะ แม่ ๆ ไม่กล้าเดินออกไปก็ไม่แปลก จนต้องเป็นเจี๊ยบ ที่เดินถือดอกไม้ไปมอบให้กับน้อยหน่าอย่างไม่แคร์สายตาใคร
หากเราจะมองในแง่มุมที่ว่า ยิ่งเมื่อโตขึ้นเรื่อย ๆ เรามักไม่อนุญาตให้ตัวเองแสดงออกในสิ่งที่คิดมากนัก จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตามที แต่เมื่อครั้นเราเยาว์วัย เราคิดอะไร รู้สึกอะไร ก็พูดแบบนั้น แสดงออกอย่างนั้น แล้วคุณล่ะ อยากเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นไหนมากกว่ากัน
มาถึงประเด็นสุดท้ายที่อยากชวนทุกคนพูดคุยกัน และคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้ หลังรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ความรู้สึกในใจกลับหนักอึ้ง ชวนทำให้ต่อมน้ำตาทำงานหนักกว่าปกติ
หากคุณตกอยู่ในสถานการณ์ของเจี๊ยบ คุณจะเลือกอะไรระหว่าง กระโดดยาง หรือเล่นเตะบอล?
เรามักมีไอเดียที่ว่าการมีเพื่อนที่ดีสักคน เราควรต้องหมั่นรักษาดูแลกันและกันให้จงดี แต่หากเราเป็นเจี๊ยบ เราจะเลือกทำอะไรล่ะ ได้เข้าไปร่วมแก๊งเด็กผู้ชาย ออกไปทำอะไรห่าม ๆ แบบที่เด็กผู้ชายเขาทำกัน และจะได้ไม่โดนล้อว่า ‘ไอ้ตุ๊ด’ หรือจะมัวเล่นกระโดดยาง เล่นพ่อแม่ลูก หรือเล่นทำอาหารไปวัน ๆ กับเด็กผู้หญิง
แน่นอนว่าเจี๊ยบไม่ค่อยชอบอย่างหลัง และอย่างที่ทราบกันดี ‘แก๊งกระบี่เย้ยยุทธจักร’ ซึ่งประกอบไปด้วย แจ๊ค ตี่ พริก บอย และมาโนช แสบยิ่งกว่าอะไร พวกเขาไม่ยอมให้เจี๊ยบเข้ากลุ่มมาได้ง่าย ๆ
ต้องมีการทำเรื่องวัดใจอะไรบางอย่างเพื่อทดสอบความแน่วแน่ของเจี๊ยบ และเนื่องจากแจ๊คมีปากเสียงกับน้อยหน่าอยู่บ่อย ๆ ทำให้ภารกิจสุดท้ายที่ออกคำสั่งโดยแจ๊คก็คือ เจี๊ยบต้องไปตัดยางของน้อยหน่า
เมื่อครั้นหนังยางขาดสะบั้น มิตรภาพความสัมพันธ์ก็เลือนหาย...
“เจี๊ยบตัดยางเราทำไม”
เจี๊ยบเลือกที่จะไม่โต้ตอบด้วยคำพูด แต่ผลักน้อยหน่า เพื่อนคนเดียวของเขาล้มลงจมกองน้ำตาอยู่ตรงนั้น ดูเหมือนเจี๊ยบจะเด็ดเดี่ยวในการกระทำ แถมยังได้คำปลอบจากหัวโจกอย่างแจ๊ค (ซึ่งไม่แน่ใจว่าช่วยให้ใจชื้นขึ้นหรือเปล่า) แต่สุดท้ายเราก็รู้ดีว่า ‘เจี๊ยบเสียใจ’
“เห้ย เจี๊ยบ พ่อกูบอกว่า ผู้หญิงแม่งโกรธง่ายหายเร็ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ไปแกล้งใหม่ยังได้เลย”
แต่...
“น้อยหน่าเขาบอกเจี๊ยบหรือยัง ว่ามะรืนเนี้ยจะย้ายบ้านแล้ว” แม่เอ่ยปากถามเจี๊ยบ
น้อยหน่าจะไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่ความสัมพันธ์ที่ยังคาราคาซังอยู่ของทั้งคู่ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่งวันสุดท้าย ‘เพราะเจี๊ยบก็คือเจี๊ยบ’ กว่าจะลืมตาตื่น รถที่บรรทุกคนที่เขาอยากขอโทษมากที่สุด ก็ได้เคลื่อนออกไปจากชีวิตของเด็กน้อยผู้นี้แล้ว
และถึงแม้แก๊งเพื่อนที่สามารถซื้อใจกันมาได้ จะช่วยเจี๊ยบเต็มที่ในการไปบอกลาน้อยหน่าเป็นครั้งสุดท้าย แต่ดูเหมือนเรื่องทั้งหมดนี้จะยากเกินกว่าที่เด็ก ๆ จะทำให้กระจ่างแจ้งได้ น้อยหน่าจึงกลายเป็นภาพสีจาง ๆ ที่ถูกเก็บอยู่ลิ้นชักความทรงจำของเจี๊ยบอยู่แบบนั้นตลอดมา...
ภายใต้ภาพยนตร์ที่แม้จะดำเนินเรื่องด้วยเด็กน้อย คิดว่าผู้ใหญ่หลาย ๆ คนที่มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็อาจจะได้แง่คิดอะไรกลับไป หรือความสดใส ความร่าเริงแบบที่เคยเกิดขึ้นในวัยเด็ก เพื่อน ๆ ที่เล่นกันเช้ายันค่ำ กิจกรรมที่ทำด้วยกัน เรื่องราวก่อนที่จะมาเป็นเราทุกวันนี้ คงถือโอกาสแซมแทรกเข้ามาให้หัวใจเราพองโตอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
และนอกเหนือจาก ‘มวลความคิดถึง’ ที่ ‘แฟนฉัน’ มอบให้กับเราตั้งแต่เริ่มเรื่องจนถึงตอนจบแล้วล่ะก็ หนังเรื่องนี้ยังทำให้เราเห็นว่า การตัดสินใจจะทำอะไรในชีวิตเป็นสิ่งที่ควรพึงระวัง และต้องครุ่นคิดให้รอบคอบ การเลือกจะทำอะไร หรือเลือกที่จะไม่ทำอะไร ย่อมมีผลลัพธ์ที่ตามมา และเราต้องรับให้ได้
ดังเช่นที่เจี๊ยบตัดสินใจไปตัดยางของน้อยหน่าในวันนั้น ทำให้เจี๊ยบสามารถซื้อใจกลุ่มเพื่อน ๆ มาร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกันแบบที่เจ้าตัวหวัง แต่เจี๊ยบกลับต้องเสียมิตรภาพของ ‘ลูกช่างตัดผม’ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘รักแรก’ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
“สำหรับผม คงมีเพียงสิ่งเดียว ที่เหมือนหยุดนิ่งอยู่ในกาลเวลา เด็กหญิงผมยาว แก้มแดง ตาแป๋วคนเนี้ย ยังเหมือนเดิมในความทรงจำของผมตลอดมา และคงเป็นเช่นนั้นตลอดไป” ข้อความจากเจี๊ยบ