SHORT CUT
เรียนรู้ภัยร้ายต่อสุขภาพ "โรคตุ่มน้ำพอง" หรือ "โรคเพมฟิกอยด์" สาเหตุการเสียชีวิตของ "เมฆ วินัย ไกรบุตร" อดีตพระเอกผู้ล่วงลับ ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่พบได้ไม่บ่อยมาก
การเสียชีวิตของ "เมฆ วินัย ไกรบุตร" อดีตพระเอกร้อยล้านที่ป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำพองมานานกว่า 5 ปี สร้างความสะเทือนใจให้คนที่ทราบข่าวเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน "โรคตุ่มน้ำพอง" หรือ "โรคเพมฟิกอยด์" กลับกลายเป็นที่พูดถึงบนโซเชียล ทั้งเรื่องสาเหตุ อาการที่เป็น ไปจนถึงวิธีการรักษา
จากข้อมูลทางการแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุสาเหตุของ โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous Pemphigoid) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น เชื้อโรคหรือสารเคมีเป็นปัจจัยกระตุ้น อย่างไรก็ตามโรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่โรคติดต่อ
สำหรับวิธีการรักษา โรคตุ่มน้ำพอง ทาง โรงพยาบาลเปาโล ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การรักษาโรคนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่มีอาการมาก ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อทำแผลอย่างถูกวิธี และเฝ้าระวังแผลติดเชื้อ
ส่วนกรณีที่รับประทานอาหารไม่ได้ อาจจำเป็นต้องให้สารอาหารทางสายทดแทน และการใช้ยารักษามักต้องใช้ในขนาดสูง เพื่อควบคุมโรคในช่วงแรก และปรับลดขนาดยาลงให้ต่ำที่สุดที่จะควบคุมโรคได้ ผู้ป่วยต้องทานยาต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อควบคุมให้โรคสงบ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจได้รับยากดภูมิต้านทานอื่น
1. ควรพบแพทย์สม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาหรือปรับลดยาเอง
2. ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลใช้น้ำเกลือ ทำความสะอาดแผล ไม่แกะเกาผื่นแผล ไม่ควรใช้ยาพ่นหรือพอกยา เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
3. ผู้ป่วยมีภาวะภูมิต้านทานต่ำ จากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ไม่ไปในสถานที่แออัด
4. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ระคายเคืองต่อผิวหนังง่าย เช่น เสื้อผ้าที่รัด ความร้อน
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุกสะอาด อาหารอ่อนย่อยง่าย รสไม่จัด ผลไม้ควรปอกเปลือกก่อนรับประทาน แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดคับ
6. การได้รับยากดภูมิต้านทาน อาจมีผลกระทบต่อโรคประจำตัวได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรได้รับการรักษาควบคู่กันไป นอกจากนี้หากมีอาการปวดท้องอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
7. ในช่วงที่โรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่ใช้ควบคุมโรค อาจมีผลต่อทารกในครรภ์
8. ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด และงดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ปลาแห้ง ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก
9. หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
ข้อมูลอ้างอิงจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลเปาโล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง