สรุปผลโหวตนายกรอบ2 ขั้วรัฐบาลเก่า ผนึก สว. ปิดสวิตช์ "พิธา" โหวตนายกซ้ำไม่ได้ - ก้าวไกล เตือนระวังตั้งบรรทัดฐานพาประเทศสู่ทางตัน
ผลโหวตนายกฯรอบ2 ที่ประชุมรัฐสภา "ไม่ให้โหวตนายกซ้ำ" มีมติเสียงข้างมากไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยประชุม 2566 ด้วยมติ 395 ต่อ 312 งดออกเสียง 8 เสียง จากผู้ลงมติทั้งหมด 715 เสียง
เนื่องจากการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภา ได้มีมติไม่ให้ความเห็นชอบ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ 8 พรรครวมจัดตั้งรัฐบาล กลับได้เสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 เพียงรายชื่อเดียว โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นเสนอบุคคลอื่นชื่อท้าชิง
สำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ได้ใช้เวลาตลอดทั้งวันในการอภิปรายประเด็นปัญหาดังกล่าว เกือบ 8 ชั่วโมงนั้น สส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายไปในทิศทางเดียวกันว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติ ซึ่งหากญัตติใดรัฐสภาตีตกไปแล้ว จะไม่สามารถพิจารณาได้ใหม่ภายในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ประธานรัฐสภา จะเห็นว่ามีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงจะสามารถอนุญาตให้นำมาพิจารณาใหม่ได
แต่การพิจารณา ให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นญัตติที่รัฐสภา เคยตีตกไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา และพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่เห็นว่า จะมีสถานการณ์เปลี่ยนไป ที่จะทำให้รัฐสภานำชื่อนายพิธา กลับมาโหวตนายกซ้ำ ทั้งยังเป็นการเสนอชื่อบุคคลเดิม และไม่ได้มีสัญญาณว่า พรรคก้าวไกล จะยอมถอยนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังกล่าว ดังนั้น สถานการณ์จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "พิธา" กล่าวอำลาที่ประชุมร่วมรัฐสภา หลังศาลรธน. สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
• ข้อบังคับข้อที่ 41 ญัตติ "ห้ามเสนอชื่อ พิธา ซ้ำ" ดร.ปริญญา ชี้ ไม่เข้าข่าย
ขณะที่ความเห็นของ สส. 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล อภิปรายสอดคล้องกันโดยไม่เห็นด้วย กับการตีความขั้นตอนการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีว่าเป็นญัตติ เพราะเป็นการตีความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะกระทบต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพราะการเสนอชื่อบุคคล และญัตติ มีความหมายต่างกัน รวมถึงหากจะไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลซ้ำ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ห้ามอย่างชัดเจน เช่น การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ และการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติถึงขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี และสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในหมวด 9 ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแยกหมวดไว้เป็นกาลเฉพาะอย่างชัดเจน และโดยหลักทั่วไปของกฎหมาย
เมื่อกำหนดหมวดไว้เฉพาะแล้ว จะนำบททั่วไปอื่นๆ มาผสมบังคับใช้ไม่ได้ ดังนั้น การหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 มาตีความการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติ ที่ถูกตีตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ (ไม่ให้โหวตนายกซ้ำ) จึงเป็นการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง พร้อมเตือนไปยัง สส. และ สว.ว่า
การตีความที่ผิดเพี้ยน จะเป็นบรรทัดฐานที่จะกลับมาสร้างความยากลำบากให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ หรือบุคคลอื่น ๆ ในกรณีอื่น ๆ ที่จะสร้างความยุ่งยาก และความเสียหายให้สถาบันอื่น ๆ ของบ้านเมือง และยังมีโอกาสทำให้ประเทศเดินหน้าสู่ทางตันทางการเมืองได้
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการลงมติ 395 ที่คัดค้านการโหวตนายกซ้ำ ไม่ให้รัฐสภาพิจารณาชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกในสมัยประชุมนี้ ประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภา และพรรคร่วมรัฐบาลชุดรักษาการปัจจุบัน และผลการลงมติที่สนับสนุนให้พิจารณานายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยประชุมนี้ ประกอบไปด้วย สส. จาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล