เปิดประวัติ "5 กกต.” ผู้จารึกประวัติศาสตร์ หน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นใครมาจากไหน เคยทำงานอะไรมาก่อน ได้รับเงินเดือนเท่าไหร่
หลังจากที่ประชุม กกต. มีมติ ในวันที่ 12 กรกฎาคม ให้ส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3 )ประกอบมาตรา 101 ( 6 )หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัดมหาชน จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ในโลกออนไลน์ มีการกล่าวถึงการทำหน้าที่ รวมไปถึงการทำงานของ กกต. เป็นจำนวนมาก
กกต. ทำหน้าที่อะไรบ้าง
กกต. ย่อมาจาก กรรมการการเลือกตั้ง เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารงานบุคคล งบประมาณ และการดำเนินการด้านอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "กกต.ติดคุก" ย้อนอดีตเหตุการณ์ที่ทำให้ กกต. ต้องติดคุกมาแล้ว
• กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ปม พิธา ถูกร้องถือหุ้น ITV คาดฟันธงวันนี้
• เปิดขั้นตอนโหวตนายกฯ 13 ก.ค. พิธา ต้องไปให้ถึง 376 เสียง เปิดวิธีโหวต-ขั้นตอน
หน้าที่ กกต. ในการดูแลการเลือกตั้ง
กกต. มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และนายทะเบียนพรรคการเมือง ดังนี้
1. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
2. ศึกษาและสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา การออกเสียงประชามติ และการพัฒนาพรรคการเมือง
3. เผยแพร่วิชาการ ให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชนรวมทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
4. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือการออกเสียงประชามติ ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง หรือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคการเมือง หรือบุคคลอื่นใดเพื่อดำเนินการตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
กกต. ได้รับเงินเดือนเท่าไร
กกต. เป็นหน่วยงานในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีอัตราเงินเดือนประจำตำแหน่ง ดังนี้
• ประธานกรรมการเลือกตั้ง
เงินเดือน 81,920 บาท
เงินเดือนประจำตำแหน่ง 50,000 บาท
• กรรมการเลือกตั้ง
เงินเดือน 80,540 บาท
เงินเดือนประจำตำแหน่ง 42,500 บาท
คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน ได้รับการคัดเลือกและประกาศแต่งตั้งในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 สิงหาคม 2561 จำนวน 5 คน ดังนี้
1. นายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง
2. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
3. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
4. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
5. นายปกรณ์ มหรรณพ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
ประกาศเพิ่มจำนวน 2 คน ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2561 ดังนี้
6. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
7. นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
เปิดประวัติ 5 กกต. เป็นใครมาจากไหน
1. อิทธิพร บุญประคอง (ประธาน กกต.)
เกิดวันที่ 26 ส.ค.2499 จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2522 นิติศาสตร์มหาบัณฑิต Tulane University สหรัฐอเมริกา ปี 2527
รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ มาโดยตลอด เคยดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย รองตัวแทนของประเทศไทย ในคดีตีความคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ว่าด้วยปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2553 และในฐานะอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ จึงได้รับตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการองค์กรร่วมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2553-2555
ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ปี 2555 เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทย ประจำโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี
เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทย ประจำโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์สหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี อีกทั้งยังเป็นประธานกลุ่ม 77 และจีน ประจำโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี ปี 2557 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทย ประจำองค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี ปี 2558
นอกจากนี้ยังเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย ในการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนเข้ารับการเลือกตั้งของไทย ในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ปี 2559 กระทั่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 12 ส.ค.2561 จนถึงปัจจุบัน
2. นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์
เกิดวันที่ 4 ม.ค.2501 จบการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (จุลชีววิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2523 วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (จุลชีววิทยาอุตสาหกรรม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2527 จบการศึกษาเกษตรดุษฎีบัณฑิต สาขาเกษตรเคมี จากมหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2533 และจบการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาเอก หรือ Past Doctoral Degree สาขาเทคโนโลยียีนในเรื่องการจัดการยีสต์ (Gene Technology on Yeast) จากสถาบันเทคโนโลยีคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2537
เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ระดับ 10 ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพ เป็นกรรมการสภาวิชาการอาวุโส วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นกรรมการสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นอนุวุฒาจารย์สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นกรรมการบริหาร สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย
3. นายปกรณ์ มหรรณพ
เกิดวันที่ 9 ก.พ.2498 จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบการศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
นายปกรณ์ เคยเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ตั้งแต่เดือน ต.ค.2555 - มี.ค.2556 และเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2556 - ก.ย.2556 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา
4. นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย
เกิดวันที่ 30 ธ.ค.2495 จบการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2518 ปริญญาโท จากคณะการเมืองเปรียบเทียบและการจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ เมื่อปี 2522
เคยเป็นผู้ว่าราชการหลายจังหวัด เช่น สระบุรี, ปราจีนบุรี, เพชรบูรณ์, ระยอง และลำปาง เป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตั้งแต่ปี 2558-2560 และกรรมการองค์กรการตลาดกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 2559-2560 เป็นข้าราชการพลเรือนในกระทรวงมหาดไทย และเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ
5. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี
เกิดวันที่ 28 มิ.ย.2496 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2519 จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อปี 2519
ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย เป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ตั้งแต่ปี 2551-2554 เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ตั้งแต่ปี 2554-2556 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ตั้งแต่ปี 2556-2558 และเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งแต่ปี 2558-2560 และเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา