"ป.ป.ช."ไม่ทราบ"พิธา"ยื่นแจ้งค้ำหนี้ 117 ล้านแล้วหรือไม่ แต่พบ 1 รายการ ขอตรวจสอบก่อนเป็นหนี้ก้อนเดียวกันหรือไม่ ส่วนหุ้นไอทีวี ยื่นมาหลังเป็น ส.ส. ขอตรวจก่อนยื่นฐานะอะไร พร้อมเตรียมเปิดบัญชีทรัพย์สินเร็วๆนี้
วันที่ 9 มิ.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีวันสถาปนาครบรอบ 25 ปี กกต.และได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินภายในบริษัทของธุรกิจในครอบครัว กว่า 117 ล้านบาท ว่า ยังไม่แน่ใจว่านายพิธาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนนี้มาหรือไม่ แต่พบว่ามี 1 รายการเป็นเรื่องของการค้ำประกันเงินกู้ ตนจำยอดไม่ได้ว่าเท่าไหร่ ขอเวลาไปตรวจสอบก่อนว่าเป็นตัวเดียวกันหรือไม่
ทั้งนี้ หากมีการค้ำประกันเงินกู้แล้วไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินจะมีผลทางกฎหมายหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า การค้ำประกันไม่ถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจริง เป็น เพียงสิทธิ์ที่ลูกหนี้หากผิดนัดเจ้าหนี้ก็จะไปเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน ซึ่งอาจจะเกิดหนี้ในตอนนั้น และผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงแค่การค้ำประกัน โดยในกรณีนี้ต้องพิจารณาว่าการค้ำประกัน เป็นประเด็นที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ ซึ่งกรณีการค้ำประกันที่ยื่นเข้ามานี้ อาจจะเป็นกรณี ยื่นเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง แต่ต้องขอเวลาไปตรวจสอบอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่องโทษ หากผิด กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 151 หลัง กกต. เล็งสอบ "พิธา"
กกต. ชี้ "พิธา" ถือ "หุ้นไอทีวี" ผิด ม.151 สั่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนแล้ว
ปิยบุตร ชี้ “นิติสงคราม" 2 กลไก กฎหมาย - สื่อ กำลังเล่นงาน “พิธา - ก้าวไกล”
ส่วนจะต้องเชิญนายพิธามาชี้แจงหรือไม่นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเรื่อง การตรวจสอบบัญชีตามปกติที่ยื่นเข้ามา ซึ่งป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบอยู่แล้ว ปกติว่าบัญชีที่ยื่นเข้ามามีความผิดปกติหรือไม่ เป็นการค้ำประกันหนี้ให้กับใครมูลค่าเท่าไหร่ และจำเป็นต้องยื่นรายการนี้ให้กับป.ป.ช.หรือไม่ เพราะการค้ำประกันไม่ได้มีสภาพความเป็นหนี้ และที่สำคัญขนาดนี้ยังไม่เห็นคำร้องที่ยื่นมาให้ตรวจสอบ บัญชีทรัพย์สินหนี้สินของนายพิธา
พร้อมกันนี้ นายนายนิวัติไชย กล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สิน กรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวีจำกัด(มหาชน) ยื่นมาในฐานะผู้จัดการมรดกหรือเจ้าของหุ้น ว่า ยื่นมาในชื่อของนายพิธา โดยระบุจำนวนหุ้นประมาณ 42,000 หุ้น แต่ไม่ทราบว่ายื่นมาในฐานะอะไร ต้องรอการตรวจสอบก่อน ส่วนหุ้นที่ยื่นมาเป็นหุ้นของสื่อมวลชนหรือไม่นั้น เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวว่า เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช. ป.ป.ช.มีหน้าที่อย่างเดียวคือการตรวจสอบความถูกต้องการมีอยู่จริงของทรัพย์สิน
"เมื่อมีอยู่แล้วยื่นไม่ได้ปกปิดก็โอเค แต่ถ้าเขาไม่ยื่นทั้งๆที่เป็นของเขาอันนี้จะเข้าข่ายจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ส่วนทรัพย์สินนั้นจะส่งผลให้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ป.ป.ช. แต่อาจจะประสาน มายังกกต. ได้ หรือกกต.สามารถขอข้อมูลมาเป็นหลักฐาน ประกอบการพิจารณาได้"นายนายนิวัติไชย กล่าว
ส่วนรายละเอียดที่แจ้งต่อป.ป.ช.ต้องระบุประเภทกิจการของหุ้นที่ถือหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เอกสารที่ยื่นมาเป็นใบหุ้น ซึ่งระบุประเภทกิจการอยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจเรื่องของวัตถุประสงค์ ของบริษัทที่ถือหุ้นว่าได้ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งกกต.สามารถขอเอกสารมาเป็นหลักฐานในการพิจาณาได้
ส่วนที่นายพิธาไม่ได้ยื่นหุ้นITV ตอนเข้ารับตำแหน่งนั้น นายนายนิวัติไชย ยืนยันว่านายพิธาได้ยื่นเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังรับตำแหน่ง ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริง ว่ามีเจตนาอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการไม่ยื่นมาช่วงรับตำแหน่งมีความผิดหรือไม่ แต่กรณีพ้นจากส.ส.ล่าสุดเข้าใจว่าได้ยื่นแล้ว และยืนยันว่า กรณีที่นายพิธายื่นเพิ่มเดินเข้ามา ไม่ได้พึ่งมายื่นในช่วงที่มีประเด็น
ส่วนการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน นายพิธากรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการทยอยเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ของส.ส.ที่พ้นจากตำแหน่ง แล้ว คาดว่าจะมีการเปิดเผยเร็วๆนี้
สำหรับกรณีที่นายพิธา มีนโยบายที่จะปฏิรูปองค์กรอิสระที่ไม่อิสระจริงนั้น นายนิวัติไชย ว่า เรื่องนี้เป็นของสภา ที่จะปรับปรุงคุณสมบัติและการสรรหา และพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอย่างไร รวมถึงจะแก้ไขอำนาจหน้าที่ขององค์กรอย่างไร
สำหรับที่ผ่านมาองค์กรอิสระมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ว่าถูกครอบงำ เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวว่า แล้วแต่มุมมองของแต่ละบุคคล ต้องดูเรื่องผลงานว่าแต่ละองค์กรมีการทำงานอย่างไร