svasdssvasds

หอการค้าฯ ชี้นายกฯคนที่30 นายกในฝัน ควรมีคุณสมบัติดังนี้ ?

หอการค้าฯ ชี้นายกฯคนที่30 นายกในฝัน ควรมีคุณสมบัติดังนี้ ?

ลุ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ! เชื่อว่าหลายคนกำลังลุ้นกันแบบสุดๆ กับผลเลือกตั้ง66 ที่กำลังจะเริ่มนับกันแล้ว และนายกรัฐมนตรีในฝันของแต่ละคนจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ วันนี้จะพาไปฟังมุมมองผู้นำหอการค้าไทย ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงภาพรัฐบาลใหม่ นายกในฝันที่อยากจะเห็นคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ภารกิจเร่งด่วน 100 วันแรก และความท้าทายที่ต้องรับมือมีอะไรบ้าง  ตามคำถามดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • อยากได้รัฐบาลแบบไหน ?

โดยมุมมองภาคเอกชน มองว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเดียว หรือรัฐบาลผสมที่มีหลายพรรคเข้าร่วม เอกชนคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และไม่สร้างความขัดแย้งในอนาคต เพราะนโยบายของแต่ละพรรคที่มีความใกล้เคียงกัน ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การลดต้นทุนพลังงาน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาในหลายสมัยต่างก็มีรัฐบาลผสมที่สามารถบริหารประเทศไปได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลใจมากนัก

 

  • นายกฯใหม่หลังเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

สำหรับนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งในครั้งนี้ภาคเอกชนเห็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการบริหารจัดการความท้าทายและสร้างโอกาสใหม่ใหม่ให้กับประเทศ ดังนี้

1) จะต้องเป็นตั้งวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

2) จะต้องเป็นบุคคลที่สามารถ ดึงทุกสรรพกำลังของทุกภาคส่วน เชื่อมโยงการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในลักษณะ Connect the Dots มีทีมงานที่มีความรู้ ความสามารถ คอยสนับสนุนการทำงาน และที่สำคัญที่สุดต้องสามารถทำงานได้กับทุกพรรคการเมือง เพราะจากการคาดการณ์รัฐบาลชุดใหม่น่าจะเป็นรัฐบาลผสม เพื่อให้เกิด Action Plan ที่สามารถนำไปขับเคลื่อนและปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

3) ภายใต้การแข่งขันทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีที่ภาคเอกชนอยากเห็นจึงต้องสามารถกำหนดจุดยืนและบทบาทของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงในเวทีระดับโลกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

4) เอกชนอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่ รับฟังความคิดเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ซึ่งส่วนนี้จะช่วยลดความขัดแย้งและนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ

  • ภารกิจเร่งด่วนรัฐบาลใหม่งาน 100 วันแรก

1) นโยบายฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับพรรครัฐบาลที่ได้หาเสียงไว้ต้องเร่งทำทันที ไม่ว่าเข้ามาแล้วจะมีการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายใหม่อย่างไรก็ตามควรเร่งให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เม็ดเงินต่าง ๆ เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดอย่างรวดเร็ว

2) การบริหารจัดการราคาพลังงานต่าง ๆ และต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

  • ความท้าทายโลกยุคใหม่ที่รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องเตรียมรับมือ

ในช่วงที่หลายประเทศเกิดปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไทยจึงต้องใช้จังหวะเวลานี้เป็นโอกาสในการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ เพื่อดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศทันที โดยเฉพาะพื้นที่ลงทุนอย่าง EEC และภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่หากรัฐบาลใหม่เข้ามาศึกษาแนวทางในการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความชัดเจน โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักจะสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล รวมไปถึงการแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัยอย่างจริงจัง (Regulatory Guillotine) เพื่ออำนวยความสะดวก และตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ

คุณสนั่น กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่สุดหลังผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล ภาคเอกชนอยากเห็นทุกฝ่ายยอมรับในผลการเลือกตั้ง ไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ

related