svasdssvasds

"กกต.ติดคุก" ย้อนอดีตเหตุการณ์ที่ทำให้ กกต. ต้องติดคุกมาแล้ว

"กกต.ติดคุก" ย้อนอดีตเหตุการณ์ที่ทำให้ กกต. ต้องติดคุกมาแล้ว

"กกต.ติดคุก" ย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทย เปิดรายชื่อกกต. ที่เคยต้องคำพิพากษาจำคุก เมื่อปี พ.ศ. 2549 จัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริต และไม่เที่ยงธรรม ช่วยเหลือพรรคการเมือง

จากกรณีที่พบการผิดพลาด จากการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566  เช่น การไม่ระบุหมายรหัสเขตที่หน้าซองบัตรเลือกตั้ง , เอกสารแสดงข้อมูลผู้สมัครหน้าหน่วย ไม่ถูกต้องครบถ้วน จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียล ที่ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง จนติดแฮชแท็ก กกต.มีไว้ทำไม , กกต.ควรติดคุก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย

อย่างไรก็ตามในอดีต เคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้ กกต. ต้องติดคุกมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2549 ในครั้งนั้น กกต. มีจำนวน 4 คน คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร และ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ  โดยมี พล.ต.อ.วาสนา เป็นประธาน กกต. 

กกต. ชุดพล.ต.อ.วาสนา ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 หลังจาก นายทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศยุบสภา ซึ่งพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทย และมหาชน บอยคอตไม่ลงเลือกตั้งด้วย แต่การเลือกตั้งดำเนินต่อไปได้ในที่สุด พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

กระทั่ง 18 เมษายน 2549 นายถาวร เสนเนียม ได้ยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลอาญาว่า การเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน รวมทั้งการเปิดรับสมัคร 8-9 เมษายน มีการกระทำผิดกฎหมายและมีความพยายามช่วยพรรคไทยรักไทยให้ชนะเลือกตั้ง ในคำฟ้องและการนำสืบของนายถาวร มีประเด็นที่สำคัญ เช่น

1. กกต.กำหนดวันเลือกตั้งหลังวันยุบสภาเป็นเวลาเพียง 37 วัน เป็นคุณแก่พรรคไทยรักไทย ซึ่ง กกต.ชี้แจงว่า ได้สอบถามไปยัง 3 พรรคการเมือง คือ ประชาธิปัตย์,ชาติไทย และมหาชน แล้ว โดยหากพร้อมลงเลือกตั้ง พร้อมจะเจรจากับรัฐบาลให้ขยายวันให้ แต่ทั้ง 3 พรรคยืนยันไม่ส่งผู้สมัคร

2. จัดคูหาเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังและหันด้านหลังออก ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับ กกต.ชี้แจงว่า เคยมีการจัดคูหาลักษณะแบบนี้มาแล้วในสมัยที่กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และไม่มีการคัดค้านว่าไม่สุจริตและยุติธรรม

3. มีการติดหมายเลขผู้สมัครไว้ผนังด้านหน้าผู้มีสิทธิลงคะแนน ซึ่งมีถึง 281 เขต ที่มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยคนเดียว กกต.ชี้แจงว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

4. แก้ไขบัตรเลือกตั้ง ให้ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนที่เคยอยู่ด้านบนมาไว้ด้านล่าง เพื่อให้เห็นชัดว่า ผู้ลงคะแนนกาเลือกพรรคไทยรักไทย ที่ได้หมายเลข 2 ที่อยู่หัวกระดาษหรือกาไม่ประสงค์ลงคะแนนที่อยู่ท้ายกระดาษ ซึ่งไปสอดคล้องกับการจัดคูหาแบบหันหลังออกทำให้สังเกตได้ง่าย กกต.ชี้แจงว่า เพราะเคยมีการร้องเรียนจากพรรคการเมืองว่าช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ไปตรงกับหมายเลขบางพรรคทำให้เกิดการเข้าใจผิด และมีการนำบัตรที่แก้ไขนี้ไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งอื่นก่อนหน้านี้แล้ว

5. เปิดรับสมัครผู้สมัครเพิ่มเติมจากที่เคยสมัครไว้ และให้ผู้สมัครจากเขตหนึ่งหมุนเวียนไปลงอีกเขตได้ โดยอ้างว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยผู้สมัครพรรคไทยรักไทยที่ได้คะแนนไม่ถึง 20% กกต.ชี้แจงว่า กระบวนการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่คือ เริ่มตั้งแต่การรับสมัคร และการให้ผู้สมัครจากเขตหนึ่งย้ายไปลงอีกเขตหนึ่งได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดห้ามไว้ และพิจารณาว่าเป็นการเลือกตั้งคนละคราว และได้รีบส่งโทรสารไปแจ้งผู้อำนวยการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้อง หลังศาลฎีกามีคำสั่งห้ามลงสมัครซ้ำแบบย้ายเขต

คดีนี้ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลย (กกต.) จัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริต และไม่เที่ยงธรรม ช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย ให้จำคุก กกต.ทั้ง 3 คน (เว้น พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ เนื่องจากการถอนฟ้อง เพราะได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว) คนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

โดยส่งตัวตั้ง 3 คนไปที่ เรือนจำลาดยาว หลังจากนั้น 3 วันจึงได้ประกันตัวออกมาสู้คดี ในชั้นฎีกาพิพากษากลับ ยกฟ้อง กกต.ทั้ง 2 คน (เว้นนายวีระชัย แนวบุญเนียร ซึ่งเสียชีวิตระหว่างต่อสู้คดี)  เพราะพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายถาวร เสนเนียม ซึ่งเป็นโจทก์ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงที่จะฟ้องจำเลยได้ ซึ่งเมื่อวินิจฉัยดังนี้จึงไม่ต้องวินิจฉัยข้อปัญหาอื่นอีกต่อไป

ต่อมา ในวันที่ 3 มิถุนายน 2559 กกต.ที่เหลือ 2 คน ต้องคำพิพากษาศาลฎีกา ให้จำคุก2 ปี โดยไม่รอลงโทษ จากกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ฟ้องร้องในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในการดำเนินการกับพรรคไทยรักไทย จากกรณีจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง พล.ต.อ.วาสนา และนายปริญญา ได้พ้นจากเรือนจำเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 จากผลการพิจารณาพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาด ของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้น กกต.ชุดพล.ต.อ.วาสนา ถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้นประมาณ 1ปี 6 เดือน

related