svasdssvasds

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่ใช่แค่ที่ให้ความรู้ แต่จะเปลี่ยนชีวิตของผู้คน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่ใช่แค่ที่ให้ความรู้ แต่จะเปลี่ยนชีวิตของผู้คน

อธิการบดีพร้อมผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงวิสัยทัศน์ต่อสื่อมวลชน ตั้งเป้าหมายไปสู่การเป็น Global Thai University เน้นเติบโตรอบทิศโดยยึดนิสิตเป็นศูนย์กลาง และปรับบทบาทมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่จะไปถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตผู้คน

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมาว่า จะบริหารจุฬาฯ ภายใต้แนวคิด “เติบโตรอบทิศโดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง” เพื่อทำให้จุฬาฯ กลายเป็น Global Thai University ซึ่งจะทำงานร่วมกับองค์กรระดับโลก รวมถึงชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัย ด้วยเป้าหมาย ไม่ให้จุฬาฯ เป็นแค่มหาวิทยาลัย ที่แค่ให้ความรู้กับนิสิตเท่านั้น แต่จะเป็นที่ซึ่งสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้คน (life changing) ได้

“นี่คือ vision (วิสัยทัศน์) ที่เราจะไป วิสัยทัศน์ต้องคิดให้ใหญ่ ให้ไปข้างหน้า ถ้าคิดแค่สิ่งที่พอจะทำได้เขาเรียกแค่ว่า goal (เป้าหมาย) เท่านั้น”

ความจริงแล้วงานแถลงข่าวครั้งนี้ใช้หัวข้อว่า “AI University” อธิการบดีจุฬาฯ คนปัจจุบันก็เริ่มใช้ keyword นี้ในการอธิบายถึงสิ่งที่เขาและทีมบริหารชุดกำลังจะทำ เพื่อตอบคำถามที่อยู่ในใจหลายคนว่า มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคของ AI ?

ศ.ดร.วิเลิศมองว่า สิ่งที่ AI แทนไม่ได้คือความสัมพันธ์ระหว่างคน จุฬาฯ จึงไม่ได้เป็นแค่สถาบันการศึกษา เพราะถ้าจะให้แค่ข้อมูลความรู้หาจากอินเทอร์เน็ตก็ได้ แต่จะเป็นพื้นที่มอบความรู้สู่สังคมเพื่อให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น หากปรับบทบาทเป็นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยจะไม่มีวันตาย เราจะหายไปก็ต่อเมื่อถูกแทนที่ได้ ต้องทำให้ตัวเองกลายเป็นสิ่งที่แทนที่ไม่ได้ (irreplaceable) เราถึงจะอยู่รอด เราจะไม่ได้เน้นทำงานแค่ knowledge-based แต่จะเป็น wisdom-based, experience-based มหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่ที่มอบความรู้ แต่ให้ความฉลาด ให้นิสิตมีความสามารถในการเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

“ในยุคปัจจุบัน การต่อต้าน AI ไร้ประโยชน์ เราจะหาวิธีนำ AI มาใช้ประโยชน์ในห้องเรียน ใช้เป็นเครื่องมือ แต่ต้องให้ AI เป็นพระรอง ให้คนเป็นพระเอก”

ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของจุฬาฯ คือการเติบโตรอบทิศโดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง

  • เติบโตไปข้างบน ด้วยการจับมือกับองค์กรระหว่างโลกต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษา, องค์กรนานาชาติ และภาคเอกชน ในการแลกเปลี่ยนความรู้หรือทำงานร่วมกัน เพื่อให้จุฬาฯ เป็น Global Thai University
  • เติบโตกับด้านล่าง คือการทำงานร่วมกับชุมชน จุฬาฯ จะทำ walking street บริเวณสยามและบรรทัดทอง ให้เกษตรกร, คนด้อยโอกาส หรือเด็กได้มาใช้ประโยชน์ รวมถึงจะให้นิสิตเปิดบริษัทวิสาหกิจเพื่อชุมชน (SE) เพื่อให้สามารถหาประสบการณ์การทำงานระหว่างเรียนไปด้วยได้ และกำไรจากการดำเนินงานบางส่วนจะถูกนำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคม เพื่อสร้างจิตวิญญาณของผู้ให้
  • เติบโตด้านข้าง คือการเชื่อมโยงกับอาจารย์ นิสิต และบุคลากรในมหาวิทยาลัย ให้ทุกคนเป็น brand ambassador รวมถึงเชื่อมโยงกับศิษย์เก่าให้มากขึ้น

“นี่คือสิ่งที่เรากำลังจะไป จุฬาฯ จะไม่เป็น stand alone university แต่มีความเชื่อมโยงกับทุกฝ่าย รวมถึงเชื่อมโยงกับสังคม เพื่อที่เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ จะมีคำตอบให้ เราจะปรับตัวเองให้มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน ใช้ประโยชน์จาก AI และสอนให้นิสิตเท่าทันความเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยของดิจิทัล” ศ.ดร.วิเลิศกล่าว

ศ.ดร.วิเลิศยังกล่าวถึงบทบาทในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2568 เป็นต้นไป โดยมองว่า มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ได้แข่งขันกันเอง แต่เป็นการสร้างคุณภาพของการศึกษาในระดับประเทศในองค์รวม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นเพียงเกณฑ์จากองค์กรจัดอันดับต่าง ๆ สำหรับยุทธศาสตร์ของ ทปอ. มุ่งผนึกกำลังร่วมกันเพื่อสร้างการศึกษาในประเทศไทยให้แข็งแกร่งและดึงดูดนิสิตต่างชาติให้เข้ามาศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในภาพรวม เพราะมีข้อมูลว่า เมื่อคนต่างชาติเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในไทยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5 ล้านบาท

related