สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดอบรมเซฟตี้เทรนนิ่ง รุ่น 12 เสริมทักษะให้นักข่าวไทย ทำข่าวชุมนุม-ภัยพิบัติ อย่างมีหลักจริยธรรมและเรียนรู้จากความสูญเสียในอดีตเพื่อป้องกันเหตุในอนาคต
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการอบรมหลักสูตรการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ หรือ Safety Training รุ่นที่ 12 เพื่อการเตรียมตัวและวางแผนก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานข่าวอย่างปลอดภัย โดยมีทีมวิทยากรที่มากด้วยประสบการณ์เข้ามาอบรมให้กับสื่อมวลชนจากแขนงต่างๆ 30 คน เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12-15 ต.ค. ที่ มอนโทโร รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี
นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในความปลอดภัย และสวัสดิภาพของสื่อมวลชน ที่ต้องเข้าพื้นที่รายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุมที่มีบริบทความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับความสูญเสียทั้งร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันมีสาธารณภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและจัดการกับข่าวปลอม (Fake News) สกัดกั้นวาทกรรมที่เพิ่มความขัดแย้งให้กับสังคม ด้วยวิธีการนำเสนอข่าวอย่างมืออาชีพภายใต้กรอบจริยธรรม จรรยาบรรณ
ขณะที่วงการสื่อสารมวลชนเข้าสู่ยุคดิจิทัลมีเกิดสื่อใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมากได้เกิดสื่อใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ขณะที่สื่อดั้งเดิม ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ต้องปรับตัวสู่ออนไลน์ไปในรูปแบบการหลอมรวมสื่อไปหมดแล้ว
ดังนั้นการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในสนามข่าว คือ เป็นนายทวารข่าวสารด่านแรก ที่จะต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน
สำหรับการอบรมครั้งนี้ มีการอบรมการปฏิบัติตัวในเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างถูกวิธี รวมถึงสื่อมวลชนในสนาม ต้องสามารถปฏิบัติตัวในพื้นที่ให้อยู่ในภาวะที่ปลอดภัยกับตัวเองในภัยคุกคามต่าง ๆ ด้วย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ คำนึงถึงความสำคัญของประเด็นเหล่านี้ จึงจัดการอบรมโครงการ การอบรมเชิงปฏิบัติการจริยธรรมการสื่อสารในภาวะวิกฤต และสาธารณภัยในยุคดิจิทัลขึ้น เพื่อให้สื่อมวลชนที่ผ่านการอบรมสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้และเพื่อให้สื่อมวลชนไทย ทั้งผู้สื่อข่าว และช่างภาพ จากสื่อทุกแขนง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ได้เพิ่มทักษะเรียนรู้เรื่องการทำข่าวในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง การรายงานข่าวอย่างรอบด้านเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่เพิ่มความขัดแย้ง โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพเข้าร่วมอบรมจำนวน 30 คน เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน
นายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้าทีมวิทยากรอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ กล่าวว่า การอบรม Safety Training ของนักข่าว เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ซึ่งมีนักข่าวบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน ทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯจัดงานเติมกำลังใจให้กับสื่อมวลชน พร้อมรับข้อเสนอ 11 ข้อจากนักข่าวภาคสนาม ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยในการทำข่าวความขัดแย้ง จึงเริ่มมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ Safety Training รุ่นที่ 1 ในปี 2553 และจัดต่อเนื่องทุกปีมาจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 12 แล้ว
ในช่วงประมาณ 5 รุ่นที่ผ่านมา หลักสูตร Safety Training ยังถูกพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์การทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบัน ที่ต้องลงพื้นที่ทำข่าวภัยพิบัติโดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง จึงมีการเพิ่มหลักสูตรการรายงานข่าวในสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นข่าวที่มีความขัดแย้งแฝงอยู่ด้วย เพื่อให้นักขาวสามารถมองลงพื้นที่ทำข่าวภัยพิบัติได้อย่างปลอดภัย รายงานได้รอบด้าน มีองค์ความรู้ในการรายงานเพื่อช่วยเตือนภัยและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงช่วยให้สังคมได้เห็นประเด็นความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในภัยพิบัติได้มากขึ้น
สำหรับการฝึกอบรมระยะเวลา 4 วัน 3 คืน จะทั้งข้อมูลทฤษฎีเบื้องต้น และการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติจริง โดยการอบรมประกอบด้วยหลักสูตรบรรยายทฤษฎี และแทรกสถานการณ์จำลองเพื่อฝึกปฏิบัติจริง อาทิ หลักสูตรการบริหารความเสี่ยง, หลักสูตรภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าว, และการเรียนรู้และการปฏิบัติตัวเมื่อเข้าทำข่าวในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงทั้งจากการใช้ความรุนแรงและโรคระบาด พัฒนาทักษะในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารด้วยเครื่องมือต่างๆ ทั้งนี้จะมีการทดสอบความเข้าใจในเนื้อหาทั้งหมดที่ได้รับการอบรม จากการปฏิบัติของผู้เข้าร่วมอบรมทีละขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนเตรียมอุปกรณ์ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ และการรายงานข่าว
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง