เรือดำน้ำ “ไททัน” ของบริษัทโอเชียนเกต ซึ่งสูญหายระหว่างลงไปสำรวจซากเรือไททานิค เคยถูกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2018 ก่อนที่คนเตือนจะถูกไล่ออก
จากการเปิดเผยของ บริษัท "โอเชียนเกต" (Oceangate) ระบุว่า เรือดำน้ำไททัน เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ที่สร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ และไทเทเนียม ขับเคลื่อนด้วย 4 เครื่องยนต์ไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์ติดตาม โซนาร์ และอุปกรณ์ระบุพิกัด จากข้อมูล อุปกรณ์ระบุพิกัดจะเป็นไฟสีแดง โดยจะเปิดตลอด และสามารถค้นหาตำแหน่งเรือได้ตลอดเวลา และ ขับเคลื่อนด้วยความเร็วที่ 5.5 กิโลเมตร/ ชั่วโมง
เรือดำน้ำไททัน ที่สูญหายไปในใต้มหาสมุทรแอตแลนติก สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 5 คน ตามข้อมูลของทางบริษัท มีน้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม ความยาว 6.7 เมตร (22 ฟุต) สามารถดำลงใต้ทะเลลึกสุด 13,100 ฟุต หรือราวๆ 4,000 เมตร (4 กิโลเมตร)
ยานลำนี้ได้ดำดิ่งลงสู่ระดับ 4,000 เมตร (13,100 ฟุต) เป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2561 และดำดิ่งสู่จุดที่ตั้งเรือไททานิคเป็นครั้งแรก ที่ความลึกประมาณ 3,800 เมตรใต้มหาสมุทรแอตแลนติกในปี 2564 และมีแผนจะลงไปใต้น้ำถึง 18 เที่ยวในปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ภารกิจค้นหาเรือดำน้ำไททัน ต้องแข่งกับเวลา ออกซิเจนเหลือไม่ถึง 24 ชั่วโมง
• เจาะสเปก เรือดำน้ำไททัน ที่สูญหายไปในการท่องดูซากเรือไททานิค
• ฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) ลูกเรือไททัน มหาเศรษฐีพันล้านชาวอังกฤษ
มีรายงานว่าแต่ผู้เชี่ยวชาญ และอดีตพนักงานของบริษัท ได้เคยแจ้งเบาะแสกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททัน เพราะโอเชียนเกต ไม่ยอมให้บริษัทจัดประเภทชั้นนำของเรือดำน้ำ หรือ DNV ของกลุ่มยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ บริษัทประกันคุณภาพและบริหารความเสี่ยงที่กำหนดมาตรฐานการออกแบบความปลอดภัยยานใต้น้ำ รับรองไททันก่อนนำมาใช้งานจริง
ด้าน Will Kohnen ประธานคณะกรรมการตรวจสอบเรือดำน้ำแบบมีคนขับของสมาคมเทคโนโลยีทางทะเล เคยส่งจดหมายลงวันที่ 27 มี.ค. 2561 ถึงผู้ก่อตั้งและ CEO ของ OceanGate ซึ่งเป็นผู้ขับยานพาหนะที่หายไป โดยในจดหมายได้เอ่ยถึงความกังวลเกี่ยวกับไททัน เนื่องจากปัญหาไม่ได้เกิดจากข้อบกพร่องด้านการออกแบบเพียงข้อเดียว แต่ OceanGate เลือกที่จะไม่ดำเนินการตามกระบวนการรับรองที่เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมสำหรับการออกแบบ การผลิต และการทดสอบเรือดำน้ำ
ย้อนกลับไปใน ปี 2018 ผู้เชี่ยวชาญใต้น้ำ ใช้นามว่า ลอชริดจ์ และได้อ้างถึงผู้เชี่ยวชาญโลกใต้น้ำจำนวน 38 คน ได้เขียนถึงสต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของโอเชียนเกท ซึ่งเป็นเจ้าของเรือดำน้ำไททันและเป็น 1 ใน 5 ผู้โดยสารเรือดำน้ำที่ขาดการติดต่อไปในครั้งนี้ โดย ได้แสดงความเห็นว่า
พวกเขาห่วงกังวลต่อแนวทางของโอเชียนเกทในการสร้างเรือดำน้ำไททัน และเตือนถึงหายนะที่อาจเกิดขึ้นจากการออกแบบ
โดยโอเชียนเกทได้ทำการกล่าวอ้างที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกแบบที่เกินมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมที่กำหนดไว้ และเรียกร้องให้รัชสร้างโปรแกรมเพื่อทดสอบต้นแบบเรือดำน้ำดังกล่าว
จดหมายของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ว่ากระบวนการตรวจสอบความถูกต้องโดยบุคคลที่สาม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันที่จะปกป้องผู้ที่อยู่ใต้น้ำทุกคน
บริษัท เรียกประชุมในวันต่อมา ซึ่งในช่วงท้ายของการประชุม ลอชริดจ์ เผยว่าเขาไม่สามารถยอมรับการตัดสินใจในการออกแบบของ OceanGate และจะไม่อนุญาตการเดินทางที่มีลูกเรือโดยไม่มีการทดสอบเพิ่มเติม หลังจากนั้นเขาก็ถูกไล่ออก
ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2018 OceanGate ได้ยื่นฟ้อง ลอชริดจ์ โดยกล่าวหาว่าเขาได้พูดคุยข้อมูลที่เป็นความลับไปบอกกับบุคคลอื่น ด้าน Lochridge ปฏิเสธและอ้างว่าคดีของ OceanGate เป็นความพยายามที่จะกีดกัน "ผู้แจ้งเบาะแสไม่ให้แจ้งปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพและความกังวลด้านความปลอดภัยที่คุกคามความปลอดภัยของผู้โดยสารผู้บริสุทธิ์" ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงคดีความกันได้
ทั้งนี้ในเอกสารที่ โอเชียนเกต ยื่นต่อศาลแขวงในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องเรือไททานิกระบุว่า เรือดำน้ำไททัน สามารถดำน้ำลึกสูงสุด 4,000 เมตร (13,120 ฟุต) โดยมีการคำนวณส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยเอาไว้แล้ว ขณะที่วัสดุที่ใช้ผลิตตัวเรือเป็นไทเทเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความทนทานต่อแรงกดดันมหาศาลใต้ท้องทะเลลึก และผ่านการทดสอบดำน้ำกว่า 50 ครั้ง