เปิดประวัติ "ศิริกัญญา ตันสกุล" ว่าที่ รมว.คลังหญิงคนแรกของไทย ที่ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะจองเก้าอี้รัฐมนตรีคลังให้ เล็งจัดงบฯสวัสดิการใหม่แทนบัตรสวัสดิการ กางแผนเพิ่มรายได้ 6.5 แสนล้านบาท นโยบายเร่งด่วน และที่มาของการขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน .
• เปิดประวัติ ศิริกัญญา ตันสกุล มือเศรษฐกิจ ว่าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐบาลก้าวไกล
ในส่วน ประวัติศิริกัญญา ตันสกุล ปัจจุบัน ศิริกัญญา อายุ 42 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขา Economics, Market and Organization,Toulouse School of Economics และปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนเข้าสู่การเมืองมีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายสาธารณะทั้งที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอีอาร์ไอ) และสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) ที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยเป็นประธาน โดยศิริกัญญาทำงานร่วมกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ในช่วงเวลาที่เป็น ส.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล มีส่วนร่วมในกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่หลายปีงบประมาณ รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎรด้วย
สำหรับ ศิริกัญญา ตันสกุล มีวาทะศิลป์ที่ร้อนแรงอีกหนึ่งคนในพรรคก้าวไกล อาทิ เรื่องวันลงนาม MOU กับพรรคร่วม
"เรานัดลงนาม MOU วันที่ 22 พ.ค. 2566 อาจจะไม่ใช่เวลาสายๆ เพราะเราไปดูฤกษ์มาเหมือนกัน เป็นวันเดียวกับเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่มีการทำรัฐประหาร! ตอนเวลา 16.30 น. ใช้เวลานั้นเลย"
นี่เป็นเพียงหนึ่งคมพูดที่ ฟาดสุดๆ สำหรับ ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่ รมต.คลัง ผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย
SPRiNG ชวนมาถอดแนวคิด ส่องดูวิธีคิด ของกระบี่มือ 1 เรื่องเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล มีความน่าสนใจมากมายแค่ไหน
• แก้ปัญหาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า จากก้าวไกล
กรุงเทพธุรกิจ สื่อในเครือเนชั่น ได้เปิดเผยวิธีคิดและถอดแนวคิดของ ศิริกัญญา ตันสกุล มือเศรษฐกิจ
โดยในส่วนของการสร้างความเป็นธรรมของสังคมพรรคเห็นถึงจุดอ่อนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จากข้อมูลยังมีคนที่ตกหล่นจากการสำรวจ หรือคนจนจริงๆที่ยังเข้าไม่สามารถเข้าถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 46% พรรคจึงเสนอนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าที่จะดูแลคนไทยทุกคนตั้งเริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์รายได้ของครัวเรือน
สวัสดิการถ้วนหน้า จะเป็นการให้ความช่วยเหลือคนในแต่ละช่วงวัยตั้งแต่เกิด ทำงาน สูงวัย จนถึงเสียชีวิต เช่น การให้ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาทซึ่งแม่เด็กสามารถเลือกได้เอง ส่วนสวัสดิการเด็กแรกเกิด ถึง 6 ขวบจะได้เงินจากภาครัฐ 1,200 บาทต่อเดือน ส่วนแม่ที่ลาคลอดได้ 6 เดือนจะได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม 5,000 ต่อเดือนโดยจะผลักดันให้แรงงานนอกระบบเข้าระบบประกันสังคม ส่วนใครที่ไม่สามรถจ่ายประกันสังคมได้รัฐก็จะเตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งไว้สนับสนุนให้ทุกคนเข้าสู่ประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ซึ่งส่วนนี้รัฐต้องใช้เงิน 3-4 หมื่นล้านบาท แต่ก็สามารถสร้างความคุ้มครองทางสังคมได้
เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือนเท่ากัน แทนที่การให้แบบขั้นบันได ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นคนป่วยติดเตียงจะได้เงินค่าดูแล 9,000 บาทต่อเดือน และรวมทั้งค่าทำศพถ้วนหน้า จัดสรรเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ 10,000 บาท จากระบบประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ที่รัฐบาลจะร่วมสมทบให้กับประชาชนทุกคน
ส่วนวัยทำงานที่ต้องการมีบ้านแต่เป็นผู้มีรายได้น้อย รัฐช่วยค่าเช่าบ้าน 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท และต้องการซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รัฐบาลจะช่วยผ่อนบ้านให้ 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งในส่วนนี้รัฐต้องการให้เกิดการแข่งขันการสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงแต่คุณภาพดีเพื่อผู้มีรายได้น้อย
รายได้ 6.5 แสนล้านใช้ดูแลคนไทย จากพรรคก้าวไกล
อย่างไรก็ตามการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชนเข้าถึงได้นั้นต้องใช้งบประมาณที่สูง คือประมาณปีละ 6.5 แสนล้านบาท แต่พรรคก็มีแนวทางในการทำงบประมาณเพื่อตอบโจทย์นโยบายโดยไม่เป็นภาระทางการคลังโดยใช้ทั้งการปรับลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น เพิ่มการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ และการหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น โดยที่มาของวงเงิน 6.5 แสนล้านบาทจะมาจาก
1) ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพกองทัพ และเรียกคืนธุรกิจกองทัพ 5 หมื่นล้านบาท
2) ลดงบกลางฯ 3 หมื่นล้านบาท
3) ปรับลดโครงการที่ไม่จำเป็น 1 แสนล้านบาท
4) เงินปันผลที่รัฐจะได้จากรัฐวิสาหกิจเพิ่ม 1.3 หมื่นล้านบาท
5) เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินโดยเก็บจากทรัพย์สินของคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท
6) เก็บภาษีที่ดินรายแปลง รวมแปลง ซึ่งจะได้รายได้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท
7) เก็บภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่วงเงินรวม 9.2 หมื่นล้านบาท
8) ปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับ OECD คาดว่าได้เงินเข้ารัฐเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท
9) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีภาครัฐตั้งเป้าเพิ่มรายได้เข้ารัฐอีก 1 แสนล้านบาท
10) นโยบายหวยบนดินที่จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
“พรรคจะทำควบคู่ไปทั้งในเรื่องของการเพิ่มรายได้ ตัดลดรายจ่ายภาครัฐ และแก้กฎระเบียบที่ไม่ทันต่อยุคสมัยและเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจ ที่สำคัญคือต้องปฏิรูปภาครัฐเพื่อให้สามารถสนับสนุนให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในยุคปัจจุบันเพราะทุกประเทศต้องการรัฐที่มีความสามารถมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรัฐที่ใหญ่ขึ้น”
นโยบาย ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน
ก่อนหน้านี้ ศิริกัญญา ตันสกุล ยังได้กล่าวในงานดีเบตนโยบายพรรคการเมืองจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆนี้ว่า นโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญเร่งด่วนคือการเพิ่มรายได้ การลดค่าใช้จ่าย และเรื่องของความมั่นคง นโยบายในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับประชาชนโดยการเพิ่มเป็น 450 บาทต่อวันถือว่ามีความเหมาะสมและทำได้ทันที
หัวใจคือการขึ้นอัตโนมัติทุกปีโดยดูจากค่าครองชีพ และการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นการขยับราคาค่าจ้างที่เหมาะสมเมื่อคิดจากช่วงที่ผ่านมาที่มีการปรับน้อยมาก
ส่วนการลดค่าใช้จ่ายในตอนนี้ ต้องทำในเรื่องของค่าไฟ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างราคา โดยทำโครงสร้างให้เป็นธรรม ซึ่งหากเราสามารถเอาราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาเป็นหลักในการกำหนดราคาต้นทุนเชื้อเพลิง เชื่อว่าค่าไฟฟ้าจะสามารถลดลงได้ทันที 70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ประชาชนสามารถแบ่งเบาภาระค่าครองชีพลงได้
ในเรื่องของความมั่นคง พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นในนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยการจัดสวัสดิการให้กับคนไทยตั้งแต่ลืมตาเกิดจนตาย เช่น เงินเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แลกเกิด เงินบำนาญผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งทั้งหมดต้องใช้งบประมาณมากปีละ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงแต่พรรคก้าวไกลมีแผนที่จะปรับปรุงงบประมาณโดยการตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส ปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีให้ตรงกับเป้าหมาย
“ถ้าเราต้องการรัฐสวัสดิการ เราก็ต้องขอให้คนที่มั่งมีมาร่วมเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกับเรา ทุกวันนี้เศรษฐีในประเทศรักการบริจาคอยู่แล้ว แต่อาจไม่ยินดีที่จะจ่ายภาษี เพราะไม่รู้ว่าภาษีจะถูกเอาไปใช้ทำอะไร คุ้มค่าหรือไม่ โดยพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าภาษีที่จะเก็บเพิ่มจากที่ดินรวมแปลง หรือภาษีความมั่งคั่งจะถูกใช้อย่างมีประโยชน์ อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดโอกาสอย่างเท่าเทียมไม่ว่าคุณจะเกิดจากครอบครัวไหนในประเทศนี้” ศิริกัญญา กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ