กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ 14 พ.ค. วันเลือกตั้ง66 ประเทศไทยตอนบน จะมีฝนตกหนัก ได้รับอิทธิพล จากพายุหมุนเขตร้อน ไซโคลน “โมคา” ขณะที่ กทม. โดนด้วย อาจเป็นอุปสรรคต่อการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แนะ กกต. กำชับ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงฝน รับมือ วันเลือกตั้ง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาล่าสุด ในช่วง 1 สัปดาห์ข้างหน้า 9-15 พ.ค. 2566 นั้น ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยแต่อย่างใด เบื้องต้น พบ พายุก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอลเพียง 1 ลูก และไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่วนในทะเลจีนใต้ ยังไม่ปรากฏว่ามีพายุเกิดขึ้น เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำเท่านั้น
สำหรับ สภาพอากาศ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องอยู่ในหลายพื้นที่จากอิทธิพลทางอ้อม ของพายุไซโคลน โมคา ซึ่งทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยยังมีกำลังแรง โดยจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาคเหนือ ซึ่งมีโอกาสเกิดฝนประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนภาคอื่น ๆ รวมถึง กทม. และปริมณฑล มีโอกาสเกิดฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการออกไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมอุตุฯ เตือน "พายุฤดูร้อน" เข้าถล่มวันนี้ทั่วไทย จังหวัดไหนเสี่ยง เช็กเลย
เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน 8-15 พ.ค คาดอากาศร้อนจัดก่อนฝนถล่มถึงวันเลือกตั้ง
กทม. เผยความพร้อมรับมือการระบายน้ำ สร้างความมั่นใจคนกรุงในหน้าฝนนี้
เน้นย้ำ หน่วยเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงจุดที่อยู่กลางแดด ซึ่งการรอคิวกลางแดดเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อสภาพร่างกายประชาชนได้ แนะหาพื้นที่อากาศถ่ายเทสะดวก ร่มเงา และเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนลดความร้อน และเตรียมรับมือกับฝนด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ติดกับเมียนมาร์ เช่น จังหวัดเชียงใหม่แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร กาญจนบุรี ที่อาจพบฝนตกหนักได้ ตลอดทั้งวัน แต่จะไม่มีลมแรง
ซึ่งในวันก่อนเลือกตั้ง ทางกรมอุตุนิยมวิทยา จะจัดตั้ง ศูนย์ติดตามพยากรณ์สภาพอากาศ เพื่อรายงานสภาพอากาศให้กับประชาชนรับทราบด้วย
ขณะที่ ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ไทยไม่เจอความร้อนสูงมากว่า3 ปี ยืนยัน ไทยยังไม่พบกรณีการเกิดคลื่นความร้อน ที่เกิน50 องศา แต่ความร้อนที่เกิดขึ้นในไทย นั้น มาจากความกดอากาศต่ำที่เกิดจากความร้อน รวมถึง ปัจจัยอื่นด้วย เช่น ปัจจัยที่1ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับประเทศไทย ปัจจัยที่สอง ปลายปี2565 ต่อต้นปี2566 ไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนน้อย และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม
ส่วนสภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงนี้ อุณหภูมิยังสูงเฉลี่ย 40 องศาฯ ต่อเนื่องไปอีกจนถึงกลาง พ.ค. และหลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่หน้าฝน สัปดาห์ที่3 ของพฤษภาคมซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาจะแถลงอีกครั้ง