svasdssvasds

กางงบ 5 พรรคใหญ่ ป.ป.ช. จับตาเลือกตั้ง 66 ระวังคอร์รัปชัน ทุจริตเชิงนโยบาย

กางงบ 5 พรรคใหญ่  ป.ป.ช. จับตาเลือกตั้ง 66 ระวังคอร์รัปชัน ทุจริตเชิงนโยบาย

ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) จับตา 5 นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 2566 หวั่นใจ “สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ทั้งนี้ ยังเตือนสติประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง 66 จับตา 5 พรรคใหญ่ให้ดี

จับตาเลือกตั้ง 2566 และตอนนี้เหลือเวลาไม่ถึง 10 วันแล้ว คนไทยก็จะได้เลือกผู้นำประเทศคนที่ 30 ทั้งนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 66  ป.ป.ช. ได้เผยแพร่บทความ “สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ชำแหละนโยบายหาเสียง 5 พรรคการเมือง เพื่อไทยใช้เงินมากสุด 70 นโยบาย 3 ล้านล้านบาท พรรคประยุทธ์ ใช้เงินน้อยสุด 11 นโยบาย 2.5 แสนล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทความ โดยกองบรรณาธิการสื่อสารเพื่อยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช. หัวข้อ “สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”

กางงบ 5 พรรคใหญ่  : ป.ป.ช. จับตาเลือกตั้ง 2566 ระวังทุจริตเชิงนโยบาย

กางงบ 5 พรรคใหญ่  : ป.ป.ช. จับตาเลือกตั้ง 2566 ระวังทุจริตเชิงนโยบาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• เพื่อไทย 70 นโยบาย ใช้เงินกว่า 3 ล้านล้านบาท

พรรคเพื่อไทย ในยุคของ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน นำเสนอนโยบายทั้งสิ้น 70 นโยบาย ใช้วงเงินรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท  

แบ่งเป็น นโยบายระดับแสนล้าน จำนวน 3 นโยบาย วงเงินรวม 1,360,000 ล้านบาท นโยบายระดับหมื่นล้าน จำนวน 11 นโยบาย วงเงินรวม 416,700 ล้านบาทในปีแรก นโยบายระดับพันล้าน มี 7 นโยบาย วงเงินรวม 36,800 ล้านบาท ไม่นับรวมนโยบายอื่น ๆ อีก

โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของเพื่อไทย ทำผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)  ที่มีการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ในช่วง 6 เดือน ให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป 

นโยบายเดียวของพรรคเพื่อไทย มีการประมาณการกันว่าต้องใช้เงินประมาณ 560,000 ล้านบาท ระบุที่มาของเงินจากการบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษี มาจาก 4 ส่วน ดังรายละเอียดคือ

1.มาจากประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท
 2.ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย จำนวน 100,000 ล้านบาท
 3.การบริหารจัดการงบประมาณ จำนวน 110,000 ล้านบาท 
4.การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน จำนวน 90,000 ล้านบาท

• พรรคก้าวไกล 52 นโยบาย ใช้เงินมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ก้าวไกล ในยุคของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้า เสนอนโยบายจำนวน 52 นโยบาย วงเงินทั้งสิ้น 1,288,610 ล้านบาท ในส่วนของนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่แรกเกิด จนตาย จำนวน 5 นโยบาย ใช้เงินไป 749,100 ล้านบาท ได้แก่ นโยบายสวัสดิการเกิด ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท สวัสดิการเติบโตใช้ งบประมาณ 44,600 ล้านบาท สวัสดิการทำงาน ใช้งบประมาณ 56,000 ล้านบาท  

สวัสดิการผู้สูงวัย ใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท และสวัสดิการทุกช่วงวัย 98,500 ล้านบาท  คูปองรับขวัญ 3,000 บาท สำหรับแม่ของเด็กแรกเกิด เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี 1,200 บาทต่อเดือน เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทถ้วนหน้า โดยไม่มีเงื่อนไข ต้องใช้งบประมาณมาดำเนินการ วงเงินประมาณ 650,000 ล้านบาท 

•พรรคก้าวไกล 52 นโยบาย ใช้เงินมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
    
•  พรรคพลังประชารัฐ 14 นโยบาย ใช้ 1 ล้านล้านบาท

พลังประชารัฐ  ที่ส่งลุงป้อม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกฯ มีนโยบายทั้งสิ้น 14 นโยบายหลัก ใช้งบประมาณร่วมเกือบ 1 ล้านล้านบาท เช่น นโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาท ใช้วงเงิน 128,000 ล้านบาท สวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รับไปเลย 3,000 บาท  70 ปี รับ 4,000 บาท และ 80 ปีขึ้นไป รับ 5,000 บาท ใช้วงเงิน 495,000 ล้านบาท หรือนโยบาย   แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ ใช้วงเงิน 174,000 ล้านบาท

•  พรรคประชาธิปัตย์ ใช้งบนโยบายเกือบแตะ 7 แสนล้านบาท

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ในการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้ เสนอนโยบายจำนวน 11 นโยบาย วงเงินทั้งสิ้น 685,400 ล้านบาท 

อาทิ อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้านทุกห้องเรียน ใช้วงเงิน 3,600 ล้านบาท ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน 3,400 ล้านบาท  ตั้งกองทุน 3 แสนล้านบาท เพื่อให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน แหล่งทุนเพื่อนำมาขยายกิจการ  ชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน ใช้วงเงิน 97,000  ล้านบาท

พรรคประชาธิปัตย์ ใช้งบ ในนโยบาย เกือบแตะ 7 แสนล้านบาท

พรรครวมไทยสร้างชาติ ใช้ 2.5 แสนล้านบาท

•  พรรครวมไทยสร้างชาติ ใช้ 2.5 แสนล้านบาท

รวมไทยสร้างชาติ หรือ พรรคลุงตู่ นำเสนอ 11 นโยบาย วงเงินทั้งสิ้น 250,000 ล้านบาท เช่น นโยบาย เพิ่มสิทธิ ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ เป็น 1000 บาทต่อเดือน ใช้วงเงิน 71,000 ล้านบาท นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ใช้วงเงิน 40,000 ล้านบาท คนละครึ่งภาค 2 ใช้วงเงิน 40,000 ล้านบาท นโยบายตั้ง ‘กองทุนฉุกเฉินประชาชน’ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ พรรคการเมือง 70 พรรค ( ใน 70 พรรคมี 3 พรรคที่ไม่ส่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ)  ส่งรายละเอียดนโยบายหาเสียงตามมาตรา 57 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 ต่อ กกต. เพื่อ กกต. จะนำนโยบายดังกล่าวมาพิจารณาในรายละเอียด 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. วงเงินและที่มาของเงินที่    จะใช้ดำเนินการ 2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ และ 3.ระบุผลกระทบและความเสี่ยง หากพบว่านโยบายเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561มาตรา 73 (5) หลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เป็นเหตุให้นำไปสู่การพิจารณายุบพรรคได้ 

กางงบ 5 พรรคใหญ่  : ป.ป.ช. จับตาเลือกตั้ง 2566 ระวังทุจริตเชิงนโยบาย

นโยบายของพรรคการเมือง ที่ยื่นต่อ กกต. ในมุมมองของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 2566 ค่อนข้างมีความน่ากังวลอยู่พอสมควร 

เพราะหลายพรรคขาดรายละเอียดของนโยบายที่ชัดเจน มีเพียงเป้าหมายและวงเงินที่ต้องใช้จ่ายเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามบางพรรคมีเนื้อหาของนโยบายที่ชัดเจน อาจสื่อให้เห็นได้ว่ามีการออกแบบนโยบายมาเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะนำเสนอเพื่อหาเสียงกับประชาชน นอกจากนี้ นโยบายที่ใช้หาเสียงของหลายพรรคยังใช้วิธีทำให้ตัวเลขงบที่ต้องใช้ลดลง ด้วยการอ้างว่า ไม่ใช้งบประมาณ หรือใช้งบประมาณปกติในการดำเนินการ

ส่วนประชาชน ในฐานะผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง จำเป็นต้องพิจารณานโยบายของทุกพรรคการเมืองให้ดี เนื่องจากหลายครั้งที่นโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอต่อประชาชน นำมาซึ่งเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (Policy Corruption) เพียงประชาชนตรวจสอบด้วยคำถามว่า นโยบายที่แต่ละพรรคนำเสนอมานั้นทำได้จริงหรือไม่ ใช้เงินงบประมาณจากไหน งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่เพียงพอสำหรับ นโยบายที่ประกาศกันออกมาหรือเปล่า หรือนโยบายที่นำเสนอหวังเอาชนะเท่านั้น นอกจากนี้ก็จะทำให้เกิดสภาพปัญหาสำหรับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง เพราะหากนำนโยบายที่ได้ใช้หาเสียงไปมาจัดทำเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อปฏิบัติแล้วจะสร้างภาระทางการคลังและสร้างผลเสียในระยะยาว จึงจำเป็นจะต้องเผยแพร่ให้ความรู้ ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะระดับฐานราก ให้รู้ทันถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบาย ในการเลือกตั้ง 2566  ต้องมีความเป็นไปได้จริงทั้งในทางการคลังและทางกฎหมายเพียงใด เนื่องจากงบประมาณต่าง ๆ ในปี 2567 มีการดำเนินการไปแล้ว ตามกฎหมายระเบียบงบประมาณที่ต้องทำล่วงหน้า ซึ่งมีงบประมาณให้รัฐบาลใช้ได้เพียง 2 แสนล้านเท่านั้น แต่นโยบายที่แต่ละพรรคนำเสนอนั้น ใช้เม็ดเงินมากกว่างบประมาณมาก ดังนั้นต้องแสดงถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ด้วย ตลอดจนต้องมีมาตรการลงโทษพรรคการเมืองที่มีนโยบายหลอกลวงประชาชน ด้วยการประชาสัมพันธ์นโยบายที่ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ

กางงบ 5 พรรคใหญ่  : ป.ป.ช. จับตาเลือกตั้ง 2566 ระวังทุจริตเชิงนโยบาย

ในขณะที่เสียงประชาชน ผ่านผลสํารวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยในการเลือกตั้งปี 2566 โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมูลนิธิเพื่อคนไทย ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 2,255 คนทั่วประเทศ ใน 20 ประเด็น คนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไขเป็นอันดับแรกคือ การทุจริตคอร์รัปชัน และต้องการเห็นพรรคการเมืองกําหนดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันเป็นนโยบายหลัก รวมถึงมีแนวทางชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหา นี่คือความต้องการของประชาชนในการเลือกตั้งคราวนี้ 

ร้อยละ 95 นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง 
ร้อยละ 91.1 อยากให้ภาคการเมืองมีบทบาทต้านโกง
ร้อยละ 86.2 จะไม่เลือกพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายต่อต้านการทุจริต

related