เศรษฐา ทวีสิน แจงปมไม่มีชื่อในปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย ชี้หากอยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย แล้ว ถือว่ายึดโยงกับประชาชน แม้ไม่ได้เป็น ส.ส. โชว์จุดยืนทำงานฝ่ายบริหาร พร้อมทำหน้าที่ในสภาอย่างเต็มความสามารถ
กลายเป็นประเด็นที่สื่อการเมือง พยายามตีข่าวเล่นประเด็นกัน เมื่อ มีรายงานข่าวรายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จำนวน 100 รายชื่อ แต่ไม่ปรากฏชื่อของ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อยู่ในบัญชี พร้อมกับมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมานั้น
นั่นทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ชี้แจง โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดย ระบุว่า ช่วงนี้มีคนถามเยอะเรื่องสถานะของตนกับการตัดสินใจไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์ จึงขอใช้พื้นที่นี้ในการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“จุดยืนของผม ผมตั้งใจที่จะเข้าไปทำหน้าที่บริหาร โดยนำนโยบายที่ได้หาเสียงร่วมกับการออกกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติที่ประกอบไปด้วย ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย และพวกเราทุกคนมีจุดยืนที่จะทำหน้าที่ในสภาอย่างเต็มความสามารถ ไม่ให้ขาดตกบกพร่องในฐานะผู้แทนประชาชนแต่ประการใด
“หากผมถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งผ่านขั้นตอนการสรรหาจากกรรมการบริหารพรรค นั่นคือสิ่งแสดงว่าผมยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจว่าหากต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย จึงต้องเลือก ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยครับ ผมไม่ได้ลอยมาจากไหน และทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้นครับ”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา 158 วรรคสาม บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นนายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ได้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างห้าปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 272 ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป