“วิษณุ” ชี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมแบ่งเขต กกต. 3 มี.ค.ถือว่าเร็ว เชื่อไม่กระทบไทม์ไลน์เลือกตั้ง 2566 ยัน 7 พ.ค.เหมาะแล้ว แนะข้าราชการวางตัวปกติช่วงรัฐบาลรักษาการ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับวินิจฉัยคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการคำนวณสัดส่วนประชากรต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง จะนับรวมคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ โดยนัดอภิปรายหารือ และลงมติวันที่ 3 มี.ค.ถือว่าช้าหรือไม่ ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ สามารถชี้ขาดได้ในวันที่ 3 มี.ค.นี้ ถือว่าเร็ว แต่ไม่ทราบว่าสามารถชี้ขาดได้เลยหรือไม่
เมื่อถามย้ำหากเป็นไปตามกระแสข่าวออกมา ที่ระบุว่าศาลจะลงมติในวันที่ 3 มี.ค.นี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ได้ยินเช่นนั้น หากเป็นไปตามนั้นจริง ถือว่าเป็นการดี ส่วนจะกระทบไทม์ไลน์เลือกตั้งหรือไม่ยังไม่รู้ เพราะยังไม่รู้ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร จึงตอบไม่ถูก อยู่ที่ว่าคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร และจากการหารือกับกกต.ทราบว่าได้เตรียมแผนไว้ทุกรูปแบบ
หากคำวินิจฉัยระบุว่าให้นับคนที่ไม่มีสัญชาติไทยรวมด้วยนั้นถูกต้องแล้ว กกต.ก็เดินแผนหนึ่ง ถ้าไม่ถูกก็เดินอีกแผนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกรอบเวลาที่คิดไว้
ขณะที่ กรอบเวลาวันเลือกตั้ง ยังเป็นวันที่ 7 พ.ค.นี้ นายวิษณุ กล่าวว่า แนวโน้มเป็นอย่างนั้น ส่วนที่นายกฯระบุวันที่ 7 พ.ค.นี้ ไม่ได้ยืนยันเองเพราะนายกฯ ไม่มีสิทธิ์ แต่เป็นการพูดตามที่ กกต.ได้พูดไว้ และดูว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด เหมือนที่ตนเคยอธิบายไว้ว่าการเลือกตั้งต้องเป็นวันอาทิตย์ ห่างจากวันยุบสภาไม่เกิน 60 วัน เร็วเกินไปไม่ได้ และช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ 50 กว่าวัน จะตกวันที่ 7 พ.ค.นี้
ไม่ว่าจะยุบสภาวันใดก็ตาม แต่หากจะให้เร็วกว่าวันที่ 7 พ.ค. ก็จะไปตรงกับวันที่ 30 เม.ย.ซึ่งก็ทำได้แต่อาจจะมีเสียงโอดครวญว่าเหลือเวลาหาเสียงได้สั้นลง ส่วน ส.ส.ที่เตรียมการย้ายพรรค เวลานี้ยังทำได้เพราะการสังกัดพรรคใหม่ในกรณีที่ยุบสภา กำหนดว่าต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 30 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เลือกตั้ง 2566 เทียบผลลัพธ์ คำนวณส.ส. เวอร์ชั่น กกต. VS ตัดผู้ไม่มีสัญชาติไทย
• ด่วน! นายกฯ ประกาศ "ยุบสภา" ต้นเดือน มี.ค. ยึดไทม์ไลน์เลือกตั้ง 7 พ.ค.66
• เลือกตั้ง 2566 วันที่เท่าไหร่? มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
หากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย วันที่3 มี.ค.จะสามารถยุบสภาได้ทันที หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แน่ใจ อยู่ที่นายกฯ ซึ่งนายกฯ เปรยว่าจะคุยกับพรรครัฐบาล โดยจะเป็นการหารือภายใน เพราะสาเหตุการยุบไม่ใช่เพราะรัฐบาลขัดแย้งกับสภา ไม่ใช่คุยในคณะรัฐมนตรี จึงมีเวลาคิดกันได้ และการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา เป็นพระราชกฤษฎีกาเดียวที่ออกโดยไม่ต้องนำเข้าครม.
เมื่อถามว่าในช่วงรัฐบาลรักษาการ มีข้อกังวลว่าการทำงานของข้าราชการจะสะดุด หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ข้าราชการต้องทำงานตามปกติเพราะไม่เกี่ยวอะไรกับใคร จะเลือกตั้งใหม่ หรือตั้งรัฐบาลใหม่ไม่เกี่ยวกับข้าราชการประจำ ยังต้องทำงานตามปกติ แต่ที่ต้องเตือน คือข้าราชการการเมือง
ส่วนทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี รักษาการ จะไปนับรวมการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ไม่นับรวมถึงระยะเวลารักษาการ