อีกหนึ่ง Soft Power จากไทย "ปลากุเลาเค็มตากใบ" ถูกคัดเลือกเตรียมเสิร์ฟขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงแก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ APEC 2022 ที่กำลังจัดจะขึ้นเร็ว ๆ นี้
วันนี้ (13 พ.ย.2565) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เปิดเผยว่า "ปลากุเลาจากตากใบ" ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสริฟในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีเชฟชุมพล เป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการโปรโมทของดีจากจังหวัดชายแดนใต้ด้วย “ปลากุเลา” เป็นสินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสให้โด่งดัง เพราะ “ปลากุเลาเค็มตากใบ” เป็นปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา คนทั่วไปขนานนามว่า “ราชาแห่งปลาเค็ม” เนื่องจากมีรสสัมผัสกลมกล่อม เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ปลากุเลาเค็มตากใบ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300-1,500 เป็นของฝากยอดนิยมที่ผู้คนมักซื้อไปฝากกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
MEA ตรวจสอบความพร้อมระบบไฟฟ้าหอประชุมกองทัพเรือ สำหรับงานประชุม APEC 2022
เปิดพื้นที่ห้ามชุมนุมทั่วกรุงช่วงเอเปค ราชกิจจาฯ ประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว
เช็กเลย! เลี่ยงเส้นทางซ้อมรถนำขบวนเอเปค 2022 คืนนี้ 3 ทุ่ม- ตี 3
APEC 2022 : ไขข้อสงสัย ไทยจะให้อะไรเป็นของที่ระลึกกับผู้นำเอเปค
สำหรับปลากุเลาเค็ม นอกจากจะเป็นสินค้าเลื่องชื่อของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาสแล้ว ยังเป็นสินค้าโด่งดังของ จ.ปัตตานี ด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาล โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ได้เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อสร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน
ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจประมงพื้นบ้านของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อาทิ วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ที่ขณะนี้มีผู้รู้จักไปทั่วประเทศ ซึ่งจากการที่ ศอ.บต. ได้สนับสนุนและผลักดันที่ดินเพื่อการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจจำนวน 3 ไร่ และให้ทุนในการสร้างโรงเรือน ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และผลิตปลาเค็มที่ได้รับความนิยมจากประชาชนภายนอกเป็นอย่างมาก
การจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำ เอเปค 2022 ใช้คอนเซปต์ Sustainable Thai Gastronomy เพื่อแสดงถึงศักยภาพของอาหารไทย และประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสำคัญของโลก โดยวัตถุดิบที่ใช้ในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์ คัดสรรจากวัตถุดิบของไทยทั้งหมด จากทั่วประเทศ เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ใช้แนวคิด BCG โมเดล
โดยมีอาหาร 4 คอร์ส เป็นอาหารไทยขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของไทย อาทิ ข้าวซอย ต้มข่าไก่ ต้มยำ ขนมหม้อแกงเผือกภูเขา ผักจากโครงการหลวง ไข่ปลาคาร์เวียจากโครงการหลวง ดอยอินทนนท์ เนื้อจากโพนยางคำ ปลากุเลาจากตากใบ รวมถึงเครื่องดื่มเป็นไวน์ไทยจากเขาใหญ่ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการเผยแพร่ Soft power ในวัฒนธรรมอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่คนไทยภาคภูมิใจ ทั้งนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 นี้