กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ภายหลังที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับประกาศกรมอนามัยที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ให้มีสภาพบังคับใช้ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จที่นำกัญชา หรือกัญชงมาใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารเพื่อจำหน่าย สร้างความปลอดภัยและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย
• แสดงข้อความ หรือป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ
• แสดงรายการอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จทั้งหมด
• แสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการ บริโภคอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบ โดยแสดงข้อความ “บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน” “ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรง ให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว” “ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน” “เมื่อรับประทานแล้วเกิดอาการง่วง ซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• อนุทิน ลงนามประกาศห้ามจำหน่าย "ช่อดอกกัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม
• ฝ่ายค้าน จ่อยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย ปมกัญชาเสรี สร้างความเสียหายให้กับสังคม
• อนุทิน ซัด! อย่าโยงกัญชากับยาเสพติดในช่วงนี้ ยันพร้อมบำบัดผู้ติดยา
ทั้งนี้ กรมอนามัยยังคงเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใช้กัญชาในการประกอบ ปรุงอาหาร ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายพบการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงฯ สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ซึ่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจในการตรวจตราเฝ้าระวัง แนะนำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ควรสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่จำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา ในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว