สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 10 - 20 ซม. หลายทุ่งนาได้มีน้ำไหลเข้าท่วมแล้วเป็นจำนวนมาก
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยังคงเร่งระบายน้ำลงสู่พื้นที่ท้ายเขื่อนที่ 2,697 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของสาขาแม่น้ำน้อย มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 10 - 20 ซม. รวมถึงเขื่อนพระราม 6 ซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำป่าสัก เร่งระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน 960 ลบ.ม./วินาที ส่งผลทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 20 - 30 ซม.
ทั้งนี้ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เร่งทำแนวคันดินบนถนนอู่ทอง ซึ่งเป็นถนนรอบเกาะเมืองระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตรในจุดที่ต่ำ เพื่อป้องน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กำลังจะไหลล้นตลิ่ง รวมถึงน้ำจากคลองคูเมือง ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าระยา และแม่น้ำป่าสักล้นตลิ่งจะไหลข้ามถนนอู่ทอง เข้าพื้นที่เกาะเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ที่มีโบราณสถาน โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงเรียน สถานที่ราชการ บ้านเรือนประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• GISTDA ใช้ดาวเทียมสแกนพื้นที่ 11 ลุ่มน้ำหลัก น้ำท่วมขังแล้วกว่า 3 ล้านไร่
• ส่องตัวเลขเปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมไทย 3 ช่วงปี พบต่างกัน 3 เท่า
• เตือนระดับน้ำเจ้าพระยา 5-13 ต.ค. สูงกว่าปกติ คนกรุงเทพระวังน้ำท่วม
โดยเฉพาะที่วัดเกาะแก้วเกษฎาราม ต.บ่อโพง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสัก โดยทางวัดได้วางแนวกระสอบทรายกันน้ำบริเวณหน้าวัดเอาไว้ และด้วยปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มวลน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ได้ไหลทะลักเข้าคลองอ้อม เข้าทางด้านหลังวัด เข้าท่วมวัดระดับสูงกว่า 1 เมตร พระสงฆ์ สามเณร ต้องเร่งขนย้ายข้าวของเอาไว้ที่สูงป้องกันความเสียหาย เร่งวางแนวกระสอบทรายปิดทางน้ำเพื่อจะเข้าไปในกุฏิหอสวดมนต์ โดยเมื่อปี 2564 วัดสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แต่มาปีน้ำขึ้นเร็วมาก และมีปริมาณที่สูง น้ำไหลเข้าคลอง อ้อมเข้าด้านหลังวัด เพียงคืนเดียวท่วมสูงกว่า 1 เมตร
สำหรับการระบายน้ำเข้าทุ่ง ตามแผนการระบายน้ำของกรมชลประทาน พบว่าตามประตูระบายน้ำต่างๆ มีการยกบายประตู เข้าตามทุ่งต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 30-50 เซนติเมตร เพื่อระบายน้ำเข้าทุ่งแบบขั้นบันใด ซึ่งผู้สื่อข่าวลงสำรวจประตูคลองบางกุ้ง ได้มีการยกบายอยู่ที่ 50 เซนติเมตร ทำให้น้ำเข้าไปในทุ่งบางปะหันได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว ในส่วนทุ่งบางบาล ทุ่งผักไห่ มีการเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้น ตามข้อเรียกร้องชาวบ้าน
โดยการระบายน้ำเข้าทุ่งนาในพื้นที่ซึ่งใช้เป็นแกล้มลิงนั้น กรมชลประทานจะดำเนินการควบคุมระดับน้ำ ไม่ให้ไหลข้ามท่วมถนนสายหลักที่สำคัญ รวมไปถึงไม่ให้เกิดผลกระทบมากกับบ้านเรือนของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในทุ่งต่างๆ ด้วย และขณะนี้หลายทุ่ง ได้มีน้ำไหลเข้าท่วมแล้วเป็นจำนวนมากเช่นกัน