กอนช. ซักซ้อมทุกหน่วยพร้อมรับมือพายุ “โนรู” ประเมินลดระดับเป็นดีเปรสชันเข้าไทย 29 ก.ย.นี้ เกาะติดสถานการณ์น้ำมูล-ชี้ วางแผนบริหารจัดการน้ำ เร่งระบายน้ำป้องกันมวลน้ำกระทบประชาชน ระดมเครื่องจักรประจำจุดเสี่ยง ย้ำการแจ้งเตือนและช่วยเหลือประชาชนให้เร็วที่สุด
สถานการณ์ พายุโนรู นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมทรัพยากรน้ำ เป็นต้น ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี และประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เพื่อติดตามสถานการณ์เตรียมการรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของพายุโนรู (NORU) ซึ่งเมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (27 ก.ย. 65) กรมอุตุนิยมวิทยารายงานการเคลื่อนตัวของพายุไต้ฝุ่น “โนรู” เมื่อเวลา 7.00 น.วันนี้ กำลังเคลื่อนตัวห่างจากเมืองดานังไปทางตะวันอออกเฉียงใต้ คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนาม จะลดระดับเป็นพายุโซนร้อนทาง สปป.ลาว และเข้าประเทศไทยในวันที่ 29 ก.ย.โดยอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน บริเวณ จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ในช่วงวันที่ 28 ก.ย.– 1 ต.ค.65 มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
พยากรณ์อากาศ 28 ก.ย. 65 พายุโนรู ใกล้ไทยทำให้มีฝนตกหนักหลายแห่ง กทม. มีฝน 60%
"GISTDA" เผยภาพถ่ายดาวเทียม "พายุโนรู" 4 จังหวัดน่าห่วง คาดเข้าไทย 28-29 ก.ย.
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการติดตามแนวทางการบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล โดย กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงติดตามผลการดำเนินการการตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของเขื่อนเพื่อป้องกันเกิดเหตุพนังกั้นลำน้ำแตก การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมถึงกลไกการเจ้งเตือนระดับน้ำที่คาดว่าจะสูงขึ้นในพื้นที่เสี่ยงให้ประชาชนเตรียมอพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงล่วงหน้าได้ทันสถานการณ์
“ที่ผ่านมา ศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ติดตามแนวทางการเคลื่อนตัวของพายุอย่างใกล้ชิด รวมถึงคาดการณ์ปริมาณฝนร่วมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำปัจจุบัน เพื่อชี้เป้าพื้นที่ประสบภัย และประเมินแนวโน้มความรุนแรงสถานการณ์น้ำ เพื่อประสานการปฏิบัติของทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำ การจัดจราจรทางน้ำ รวมถึงพิจารณาลดการระบายน้ำจากเขื่อนเพื่อหน่วงน้ำ การปรับแผนการบริหารจัดการน้ำรองรับในการเร่งป้องกันแก้ไขพื้นที่ประสบอุทกภัย ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศแจ้งเตือน ฉบับที่ 41/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางศูนย์ส่วนหน้าฯ ได้มีการออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล จำนวน 3 ฉบับ เพื่อแจ้งหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมแผนปฏิบัติการรองรับตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับสถานการณ์แม่น้ำมูลบริเวณล่าสุดขณะนี้ สถานี M7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สูงกว่าตลิ่ง 1.6 ม. (ระดับน้ำ +113.6 ม.รทก.) รวมถึงประเมินคาดการณ์ระดับน้ำทุกวัน ปัจจุบันได้มีการเพิ่มปริมาณน้ำจากค่าฝนที่เกิดจากพายุด้วยแล้ว คาดการณ์ในวันที่ 4 ต.ค.65 บริเวณสถานี M7 สูงกว่าตลิ่ง 2.53 ม. (ระดับน้ำ +114.53 ม.รทก.) ซึ่งจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปเตรียมการสำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และการช่วยเหลือกรณีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นด้วย