svasdssvasds

มท.1 แจ้งด่วนทุกจังหวัดเฝ้าระวัง พายุโนรู เตรียมรับมือ 24 ชั่วโมง

มท.1 แจ้งด่วนทุกจังหวัดเฝ้าระวัง พายุโนรู เตรียมรับมือ 24 ชั่วโมง

มท.1 สั่งการด่วนทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับพายุโนรู เน้นย้ำเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนประชาชนโดยทันทีหากเกิดสถานการณ์

วันที่ 26 ก.ย. 65 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ เรื่อง พายุ "โนรู" โดยเมื่อเวลา 4.00 น. ของวันที่ 26 กันยายน 2565 พายุ "โนรู" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 28 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงในช่วงวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งอาจทำให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และผลกระทบจากพายุ "โนรู" พร้อมทั้งกำชับดำเนินการตามแนวทางแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ตามแนวทาง ดังนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

1. ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ติดตามสถานการณ์พายุโนรู รวมทั้งประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ อาทิ ปริมาณฝน น้ำท่า การระบายน้ำจากเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อการเกิดสถานการณ์อุทกภัย และดินโคลนถล่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการในแต่ละระดับ พร้อมทางแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ 

2. กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยกำหนดพื้นที่ ภารกิจ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เรือยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย ฯลฯ เตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

 3. เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ 

4. หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้ผู้อำนวยการสั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที

โดยให้ฝ่ายปกครองกำนันผู้ใหญ่บ้านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ

5. สำหรับจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย และเกิดขึ้นต่อเนื่องให้จัดตั้งศูนย์พักพิงและวางแผนบริหารจัดการ เพื่อรองรับการอพยพของประชาชนอย่างเป็นระบบ สำหรับจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลให้มอบหมายหน่วยงาน ที่มีหน้าที่กำกับดูแล เช่น บริเวณน้ำตก ถ้ำ กำหนดมาตรการในการแจ้งเตือน การปิดกั้นหรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ สำหรับพื้นที่ติดทะเล ชายหาดต่าง ๆ ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ในการนำเรือเข้าที่กำบังและห้ามการเดินเรือ ช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีเรือขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่นอกชายฝั่งที่อาจจะเป็นอันตราย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำเรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่งเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ตลอดจนกำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล สื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สรุปสถานการณ์และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติหรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 

related