30 กันยายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยปมนายกฯ 8 ปี ชี้ชะตาบิ๊กตู่ว่าจะได้ไปต่อในตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ ? และหลังจากการวินิจฉัยในวันนั้น การเมืองไทยจะเป็นเช่นใด ?
ถือว่าเป็นอีกโมเมนต์ทางการเมืองที่บีบหัวใจเป็นยิ่งนัก สำหรับการชี้ชะตาบิ๊กตู่ ว่าจะได้ไปต่อในตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ โดยในวันที่ 30 กันยายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัย ซึ่งมีความเป็นไปได้ ดังต่อไปนี้
1. บิ๊กตู่ ยังเป็นนายกฯ
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเป็นนายกฯ ของบิ๊กตู่ นับตั้งแต่ปี 2560 ในปีที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้ ซึ่งถ้านับตามแนวทางนี้ บิ๊กตู่จะมีสิทธิเป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2568
หรือหากเริ่มนับจากการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในปี 2562 ซึ่งมีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรก หลังรัฐธรรมนูญฉบับบปัจจุบัน ประกาศใช้ บิ๊กตู่ก็จะมีสิทธิเป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2570
2. บิ๊กตู่เป็นรักษาการนายกฯ
แต่หากศาลฯ วินิจฉัยการเป็นนายกฯ ของบิ๊กตู่ นับตั้งแต่ปี 2557 การเป็นนายกฯ ของบิ๊กตู่ก็จะสิ้นสุดลง พร้อมกับคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 แต่คณะรัฐมนตรียังคงทำหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ และบิ๊กตู่ก็ยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ในฐานะ “รักษาการนายกฯ” ซึ่งถ้าเป็นในแนวทางนี้ ก็จะนำไปสู่ข้อที่ 3 หรือข้อที่ 5
บทความที่น่าสนใจ
ถ้าบิ๊กตู่หลุดจากเก้าอี้ ! บิ๊กป้อม มีโอกาสเป็นนายกฯ ด้วยวิธีใด ?
“บิ๊กตู่” อยู่ต่อ หรือพอแค่นี้ ขึ้นอยู่กับว่า 8 ปี นับจากช่วงเวลาใด ?
3. หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ได้เป็นนายกฯ
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้กำหนดไว้ว่า บุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ จะต้องได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองก่อนวันเลือกตั้ง ปี 2562 และพรรคดังกล่าวต้องมีจำนวน ส.ส. 5 % ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประมาณ 25 คนขึ้นไป
โดยแต่ละพรรคเสนอรายชื่อได้ไม่เกิน 3 คน และไม่สามารถเปลี่ยนรายชื่อใหม่ภายหลังได้ โดยบุคคลที่ยังมีสิทธิในฐานะแคนดิเดตนายกฯ มีดังต่อไปนี้
1. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคเพื่อไทย
2. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคเพื่อไทย
3. ชัยเกษม นิติสิริ : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคเพื่อไทย
4. อนุทิน ชาญวีรกูล : แคนดิเดตนายกฯ โควต้าพรรคภูมิใจไทย
5. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : แคนดิเดตนายกฯ โควตาพรรคประชาธิปัตย์
แม้ว่าในปัจจุบัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะลาออกจากพรรคเพื่อไทย ไปเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย ส่วน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ไปเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้ว แต่ก็ถือว่ายังมีสิทธิในฐานะแคนดิเดตนายกฯ อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ว่า จะมีการส่งขึ้นเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ หรือไม่
หากสภาโหวตเลือกนายกฯ จากแคนดิเดตนายกฯ ดังกล่าว แล้วมีผู้ที่ได้รับเสียงโหวตเกินครึ่งของสภา (ส.ส. + ส.ว.) เราก็ได้นายกฯ คนใหม่ในทันที แต่หากไม่มีผู้ใดได้เสียงโหวตเกินครึ่งสภา ก็จะนำไปสู่ข้อที่ 4
4. นายกฯ นอกบัญชี
แต่ในกรณีที่ไม่มีแคนดิเดตนายกฯ คนใด ได้รับคะแนนโหวตเกินครึ่งของสภา ก็จะเข้าสู่กระบวนการนายกฯ นอกบัญชี หรือนายกฯ คนนอก โดย ส.ส. กับ ส.ว. จำนวนเกินครึ่งของสภา ต้องลงชื่อเพื่อขอให้มีการเสนอชื่อนายกฯ
ลำดับต่อมา รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ว่า จะต้องมี ส.ส. และ ส.ว. 1 ใน 3 ของสภา ลงมติเพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี
และขั้นตอนสุดท้าย ส.ส. และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ นอกบัญชี ตามรายชื่อที่เสนอ หากได้เสียงโหวตเกินครึ่งของสภา บุคคลผู้นั้นก็จะได้เป็นนายกฯ คนใหม่ในทันที
5. อื่นๆ
แต่ด้วยรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ฉะนั้นแล้วบิ๊กตู่ก็อาจจะ (ย้ำว่าอาจจะ) เลือกอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกฯ ไปอีกสักระยะ ก่อนประกาศยุบสภาในช่วงเวลาที่ตนเห็นว่าเหมาะสม... ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน
ที่มา รัฐธรรมนูญ ปี 2560 / Update 27 ก.ย. 65