ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน สั่งชลประทานลุ่มน้ำชี-มูล รับมือสถานการณ์น้ำหลากจากพายุโนรู จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดเสี่ยงให้พอเพียง เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (26 ก.ย.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุไต้ฝุ่นโนรู (NORU) ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงวันที่ 28 ก.ย. 65 อาจทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ก่อนจะเคลื่อนตัวมายังบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
บทความที่น่าสนใจ
สำรวจการเดินทางพายุโนรู จากไต้ฝุ่น ลดระดับเป็นดีเปรสชัน เมื่อเข้าสู่ไทย
พายุไต้ฝุ่น “โนรู (NORU)” เข้าไทย 28 ก.ย.-1 ต.ค. นี้ ฝนตกหนักถึงหนักมาก
อัปเดตพายุไต้ฝุ่นโนรู ลงทะเลแล้ว ขึ้นฝั่งเวียดนาม 28 ก.ย.-ไทย 29 ก.ย.
โดยจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 65 นั้น เพื่อเป็นการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนที่เพิ่มขึ้น ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบและควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย พร้อมปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต้องสามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันที
รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดเสี่ยงให้พอเพียงและพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญให้นำ 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด มาเป็นแนวทางในการเตรียมรับมือ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติ
สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งหน้า ตลอดจนร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานในการเตรียมรับมือและให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน (26 ก.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 54,416 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 21,692 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,967 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 8,904 ล้าน ลบ.ม.
โดยที่เขื่อนภูมิพล ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำอยู่ในร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ ซึ่งยังมีพื้นที่สำหรับรับน้ำได้อีก อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักร้อยละ 80 ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมนำข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ มาพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น จนไหลล้นตลิ่งบางแห่ง กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 , 7 และ 8 ได้บูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำและจัดจราจรน้ำ พร้อมทั้งยกบานประตูระบายน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดัน ตลอดแนวแม่น้ำชี-มูล เพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำชีและมูล ลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ กรมชลปนระทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้อง พร้อมให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา
ที่มา กรมชลประทาน