กอนช. เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม กทม. เตือนทุกภาคทั่วไทย เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง แม่น้ำสายหลัก และแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
วันที่ (10 ก.ย.65) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุโขทัย (101) กรุงเทพมหานคร (101 มม.) จ.เลย (100 มม.)
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
น้ำท่วม กทม. 10 ก.ย. 65 สถานการณ์ล่าสุด งามวงศ์วาน ลาดกระบัง บางพลี รังสิต
"กองทัพเรือ" แสตนบาย เรือผลักดันน้ำ 80 ลำ หลังฝนตกหนักทำ กทม. -ปริมณฑล น้ำท่วม
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 52,806 ล้าน ลบ.ม. (64%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,146 ล้าน ลบ.ม. (65%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ แม่งัด แควน้อย อุบลรัตน์ ขุนด่านปราการชล บางพระ หนองปลาไหล และบึงบระเพ็ด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เร่งหน่วยงานแก้ไขปัญหาพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนายการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และ จ.ปทุมธานี โดยกรมชลประทานได้เร่งระบายน้ำผ่านแนวคลอง ดังนี้
- คลองแนวขวางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น คลองหกวาสายล่าง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก ผ่านสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ จ.นครนายก สามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 1.3 ล้าน ลบ.ม.
- คลองแสนแสบ (คลองบางขนาก) ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านประตูระบายน้ำบางขนาก จ.ฉะเชิงเทรา สามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 4.65 ล้าน ลบ.ม.
- คลองประเวศบุรีรมย์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านประตูระบายน้ำกลางคลองประเวศ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนระบายออกสู่อ่าวไทย
- คลองด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น คลอง 13 และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แบ่งรับน้ำจากทางตอนบนของกรุงเทพมหานคร ก่อนใช้สถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมคลองชายทะเล เร่งระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำที่ตั้งอยู่ตามแนวคลองชายทะเล มีศักยภาพระบายน้ำรวมกันได้ประมาณ 42 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน
ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี กอนช. ได้เร่งให้ดำเนินการระบายน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด โดยวานนี้ (9 ก.ย. 65) มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,448 ลบ.ม.ต่อวินาที ในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 300 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่จะไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน