เช็กที่นี่ กฎหมายจราจรฉบับอัปเดตเพิ่มโทษ เอาผิด เมาแล้วขับ-ขับรถเร็ว-ฝ่าไฟแดง-ไม่หยุดรถทางม้าลาย-ขับย้อนศร-ไม่สวมหมวกกันน็อก-ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เริ่มมีผลบังคับใช้ 5 ก.ย.นี้
กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 มีหลายเรื่องที่ต้องติดตามและต้องทำความเข้าใจ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น., พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. ได้ชี้แจงการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 ไว้ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราชกิจจาฯ ประกาศ นั่งเบาะหลัง ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ปรับ 2,000 บาท มีผล 5 ก.ย.นี้
“ดร.เอ้ สุชัชวีร์” สะท้อนบทเรียนราคาแพงจากเหตุสะพานถล่มย่านพระราม 2
1.เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ
กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ 160 ตรี/3)
2.เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง
2.1 เพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น
- ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
- ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
- ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
- ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
- ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
- ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
2.2 เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น
- อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท เพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เพิ่มเติม ดังนี้
3.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง (ม.134) ดังนี้
- มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือ
- รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง/ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ
- มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง
ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 - 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
3.2 เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ
- อัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(ม.134/1)
3.3 กำหนดโทษใหม่สำหรับร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 -10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) (ม.134/2)
4.กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย
4.1 รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้
4.2 สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ด้วย หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ตามข้อ 4.1 และ 4.2
ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
สำหรับการนั่งบริเวณแคป หรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด ส่วนประกาศกำหนดอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565
สำหรับประเด็น “ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี” ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565 เรื่องที่นั่งนิรภัยนี้ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป
ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ จราจรทางบก ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565) ประกาศ ณ วันที่ 7 พ.ค. 65 (ความยาว 18 หน้า) ‘มาตรา 123’ ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับขี่รถยนต์ ผู้ขับขี่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์ คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์
คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายหรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด ยกเว้นในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายตาม และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด
ตามมาตรา 123/2 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถยนต์ในขณะที่มีคนโดยสารนั่งแถวตอนหน้าเกินสองคน หรือคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าต้องรัดเข็มขัด ผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือรถที่ใช้ในการขนส่ง ผู้โดยสารเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องแจ้งเตือนหรือจัดให้มีการแจ้งเตือนด้วยวิธีการอื่นหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา หรือเริ่มบังคับใช้ วันที่ 5 ก.ย.65 นี้ เป็นต้นไป
ที่มา
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติ จราจรทางบก ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565) ประกาศ ณ วันที่ 7 พ.ค. 2565