"ดร.เสรี" เตือนรับมือฝน 100 ปีช่วง 3 เดือนนี้ คาดการณ์ กรุงเทพฯ จมบาดาลในอีก 20 ปีข้างหน้า หากไม่เตรียมการรับมือ เปิดสถิติฝนตกและน้ำทะเลหนุนสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อดัง เพื่อเตือนภัยน้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทย ถึงขั้น "กรุงเทพฯ จมบาดาล" ใน 20 ปีข้างหน้า หากไม่เตรียมการรับมือ ถึงขั้นอาจจะต้องย้ายเมืองหลวง
นอกจากนี้ได้ ออกมาเตือนว่า ช่วงเดือนก.ย. - พ.ย.65 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกหนักมากขึ้น และระยะเวลายาวขึ้น ไม่รู้พายุจะเข้าช่วงไหน จากที่กรมอุตุฯ คาดการณ์ปีนี้พายุอาจจะเข้าไทย 2-3 ลูก อาจมีโอกาสเป็น ฝน 100 ปี ดูจากlถานการณ์ฝนที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เป็นฝนในรอบ 80 ปี ซึ่งหนักมาก
ตอนนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์จะเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะปริมาณน้ำฝนเท่ากัน แต่ลักษณะการท่วมแตกต่างจากปี 2554 ที่มาเร็วจากน้ำหลากและระบายน้ำจากเขื่อนใหญ่ แต่ปีนี้มาจากน้ำฝน แนวพายุเข้าที่อาจจะเลื่อนมาภาคกลาง จะทำให้น้ำเต็มทุ่งจนล้นเข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ
ในช่วง 3 เดือนนี้ (ก.ย.-พ.ย.65) มีฝนตกหนักมากและตกยาวนาน ส่วนพายุที่จะเข้ามาอาจจะรู้ล่วงหน้าได้ประมาณ 10 วัน ปริมาณฝนจะตกเท่าไหร่ พื้นที่ลุ่มทุ่งเจ้าพระยา พื้นที่รับน้ำหน่วงน้ำ ชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวได้หมดใน 15 วันหรือไม่ ดังนั้นจะต้องทำฉากทัศน์ จำลองสถานการณ์ล่วงหน้าไว้หลายๆแบบ นำข้อมูลมาแจ้งประชาชนให้เข้าใจ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วงเวลาเปิดประตูระบายน้ำ แต่ประชาชนไม่อยากให้เปิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• น้ำท่วมปากีสถาน พื้นที่ 1 ใน 3 จม เทียบพื้นที่ 25 จังหวัดใหญ่ที่สุดไทยรวมกัน
• ใครบอกน้ำท่วมกรุงเทพ! นี่เป็นแค่น้ำขังที่รอการระบายต่างหาก
• น้ำท่วมกรุงเทพไหม? ฟัง ศ.ดร.ธนวัฒน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาภัยพิบัติ วิเคราะห์กัน
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เปิดเผยอีกว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีความเสี่ยงสูงมากจะจมใต้น้ำ อาจต้องย้ายเมืองหลวง หากไม่ทำอะไร เพราะทุก 10 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ควรนิ่งเฉย ต้องออกมาตรการป้องกัน
ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ มีปัจจัยหลักมาจาก 3 ส่วน
1. ปริมาณน้ำฝน ซึ่งปีนี้มีฝนตกชุกจากพายุ 8 ลูก ยังเหลืออีก 15 ลูก ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงน้ำรอการระบาย แต่หากเจอปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในระดับฝน 100 ปี หรือสูงกว่า 1,200 มิลลิเมตร จะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งพบว่าจะมีปริมาณน้ำฝนสูงเกิน 1,200 มิลลิเมตร อย่างต่อเนื่องในอนาคต
2. น้ำหลาก หรือน้ำล้นฝั่ง ซึ่งเกิดจากปริมาณฝนที่ตกในตอนบนของประเทศ ในปีนี้พบว่าจะหนักสุดช่วงเดือนตุลาคม
3. น้ำทะเลหนุน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเมื่อจะเกิดระดับน้ำทะเลสูงอย่างถาวร
" กรณี ปริมาณน้ำฝน และน้ำเหนือหลาก จะเกิดในหน้าฝน แต่น้ำทะเลหนุนสูงถาวร เป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก เนื่องจากมีงานวิจัยจากต่างประเทศพบว่า กรุงเทพ อยู่ในลำดับ 7 เสี่ยงน้ำท่วมชายฝั่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC), งานวิจัยจากญี่ปุ่น และงานวิจัยของ NASA พบว่า จะมีน้ำท่วมชายฝั่งอย่างถาวรในอนาคต ดังนั้นเมื่อบวกรวมกับปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำหลาก กรุงเทพจึงเหมือนถูกแซนวิช หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะจมบาดาล
แนวทางในการเตรียมรับมือนั้น ดร.เสรี ยืนยันว่า ต้องเป็น วาระแห่งชาติ ไม่ใช่แค่หน้าที่ ผู้ว่าฯ กทม. เท่านั้น เนื่องจากต้องมีการสร้างแนวเขื่อนชายฝั่งเหมือนประเทศเกาหลี สร้างกั้นน้ำทะเลที่ชางฮี ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 30 ปี นอกจากนี้ต้องขยายระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯใหม่ทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่าที่มีอยู่รับมือไม่ได้แล้ว
รูปแบบโครงการจะสามารถช่วยปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา แต่จะกระทบความเป็นอยู่และวิถีชีวิตอย่างมาก เช่น การสร้างถนนจากพัทยา-ชะอำ ต้องมีการพัฒนาตามแนวถนน หรือการสร้างเขื่อนแนวชายฝั่งที่ส่งผลกระทบกับประชาชน รวมถึงการประมงชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และขณะนี้ยังไม่มีการเริ่มดำเนินการ
สำหรับ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในปีนี้ นอกจากรีบขุดลอกคลอง ลอกท่อระบายน้ำ จะต้องหาพื้นที่หน่วงน้ำเหนือ หาพื้นที่ชุ่มน้ำในกรุงเทพเพื่อรับน้ำ พร้อมประสานไปยังจังหวัดต่างๆให้ช่วยหาพื้นที่หน่วงน้ำ
ซึ่งก่อนหน้านี้ รศ.ดร.เสรี โพสต์เรื่องราวที่น่าสนใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" เตือนคนไทย เตรียมรับมือพายุ 15 ลูก ระวัง"น้ำท่วมใหญ่"ปลายปี 65 โดยระบุถึง ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในปี 2565 จะเกิดขึ้นเมื่อครบทั้ง 3 ปัจจัย ดังนี้
1. ปริมาณฝนสะสมช่วงก่อนฤดูฝนมากกว่าค่าปกติ
2. ปรากฏการณ์ลานิญญายังทรงพลังช่วงปลายปีทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าฝั่งตะวันออก ความชื้นสูง
3. ปรากฏการณ์ไอโอดีเป็นลบทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียสูงกว่าฝั่งตะวันตก ความชื้นสูง
ปริมาณฝนคาดการณ์ช่วงปลายปี 2565 (สิงหาคม-พฤศจิกายน) มีสูงกว่าค่าปกติ และมากกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา หากปริมาณฝนในภาคกลางมีมากกว่า 18 % ของค่าปกติ มีความเสี่ยงสูงจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ 2554 แต่พฤติกรรมน้ำหลากจะไม่เหมือนกัน (ถ้าฝนตกเหนือเขื่อน ปริมาตรรองรับน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือยังมีประมาณ 50% แต่หากตกใต้เขื่อน จะสร้างปัญหาให้กับภาคกลางแบบน้ำท่วมทุ่ง ค่อยๆหลากเข้าเมือง) สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนกลาง ตอนล่าง) ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ได้เช่นกัน
ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรง หรือเบาลงประกอบไปด้วย
1. จำนวน ทิศทาง และความรุนแรงของพายุจรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (โดยในปีนี้มีการคาดการณ์จะเกิดพายุ 23 ลูก ช่วงครึ่งปีแรกเกิดแล้ว 8 ลูก ยังเหลืออีกประมาณ 15 ลูก)
2. ความสามารถรับน้ำของลุ่มน้ำลดลง บีบให้ระดับน้ำสูงขึ้น (เช่นปีที่แล้วในภาคกลางปริมาณน้ำมีน้อยกว่าปี 2554 ประมาณ 20% แต่ระดับน้ำสูงเท่า หรือมากกว่า)
3. การเตรียมความพร้อม และความเข้าใจภาคครัวเรือนในพื้นที่เสี่ยง (เพื่อให้องค์ความรู้ และความตระหนัก จัดการความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง)
4. ความขัดแย้งภาคประชาชนในพื้นที่เสี่ยง (มีการประกอบอาชีพ ทำนา ทำไร่ หรืออาชีพอื่นๆ การจะเอาน้ำจากที่หนึ่งไปเก็บในอีกที่หนึ่ง เช่นแก้มลิงหรือประตูน้ำต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบกับการทำมาหากินของเขาเหล่านั้น) และ
5. การบริหารจัดการเอาอยู่หรือไม่ (การประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ชี้แจงมาตรการต่างๆต่อภาคประชาชนในการลดผลกระทบต่อพื้นที่เสี่ยง)
สำหรับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้ที่ออกมาเตือนก่อนเกิดน้ำท่วมปี 2554 โดยในช่วงนั้นมีการแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ กระทั่งสุดท้ายเกิดอุทกภัยที่หนัก เกิดการท่วมครั้งใหญ่อย่างที่ออกมาเตือนจริงๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก nationtv