"หมอยง" ชี้เมื่อโควิด-19 มีการระบาดระลอกใหญ่เกิดขึ้น คาดจะเริ่มลดลงหลังกลางเดือน ต.ค. ช่วงนักเรียนเปิดเทอม จึงยากที่จะนับยอดว่าแต่ละวันมีผู้ป่วยติดเชื้อเท่าไหร่ แต่ละบ้านก็จะติดกันจำนวนมากในบ้าน
สถานการณ์โควิดปัจจุบัน การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ นับเป็นระลอก ที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอไมครอน BA.5
ถ้าย้อนไปดูการระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 ที่สนามมวยและสถานบันเทิง เป็นจุดเริ่มต้น มีผู้ป่วยเป็นหลักสิบ สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น
การระบาดระลอกที่ 2 เกิดเริ่มต้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ในแรงงานต่างด้าว กลางเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ป่วยเป็นหลักร้อยต่อวัน สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ G
การระบาดรอบที่ 3 เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 เริ่มจากสถานบันเทิงที่ทองหล่อ โดยนำเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ หรือต่อมาเรียกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า มีผู้ป่วยเป็นหลักพัน ต่อวัน
การระบาดระลอกที่ 4 เกิดขึ้นหลังจากการระบาดด้วยสายพันธุ์แอลฟาเริ่มลดลง ก็มีสายพันธุ์อินเดีย หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์เดลต้า เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น และอยู่จนถึงปลายปีจึงเริ่มลดลง
การระบาดใน ระลอกที่ 5 เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ 2565 ด้วยสายพันธุ์โอไมครอน โดยเริ่มจาก BA. 1 แล้วตามด้วย BA.2 มีผู้ป่วยหลายหมื่นคนต่อวัน เมื่อค่อยๆลดลง และลดลงมาจนถึงต้นเดือนมิถุนายน
พอกลางเดือนมิถุนายน ก็มีการระบาดระลอกใหม่ เป็นรอบที่ 6 ที่เป็นสายพันธุ์ BA.5 และในช่วงนี้ เกิดการระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า ขณะนี้น่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่หลักหมื่น และมีการนอนโรงพยาบาล ตามตัวเลขที่ประกาศ ประมาณ 2,000 คน เสียชีวิต 20 คน หรืออัตราการเสียชีวิต น่าจะอยู่ที่หนึ่งในพันของผู้ติดเชื้อ น้อยลงกว่าการระบาดในระลอกแรกๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• หมอยง เผยเหตุผล ทำไมต้องฉีด "วัคซีนโควิด" ครบ 3 เข็ม ชี้คนไทย 60% ยังได้ไม่ครบ
• หมอยง แนะ หากมีอาการเจ็บคอ ไอแห้งๆ เสียงเปลี่ยน มีน้ำมูก รีบตรวจ ATK ด่วน
• หมอยงเผย โอไมครอน BA.5 ติดเชื้อจริงหลักหมื่นต่อวัน แพร่เร็วในกลุ่มนักเรียน
ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือหมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า
โควิด-19 เมื่อการระบาดระลอกใหญ่เกิดขึ้น และจะเริ่มลดลงหลังกลางเดือนตุลาคม
การระบาดโควิด-19 ขณะนี้ เป็นการระบาดระลอกใหญ่ นับจำนวนไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่อาการไม่มาก ตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมา และมาเข้าสูงสุดในช่วงฤดูฝน ตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ และจะเริ่มลดลงหลังเดือนกันยายน จนกระทั่งกลางตุลาคมไปแล้วจึงจะน้อยลง (ฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจทุกปี) นักเรียนเปิดเทอม ฤดูกาลที่เหมาะ จึงยากที่จะนับยอดว่าแต่ละวันมีผู้ป่วยติดเชื้อเท่าไหร่ แต่ละบ้านก็จะติดกันจำนวนมากในบ้าน
วัคซีนกี่เข็ม ยี่ห้ออะไร ไม่มีวัคซีนเทพ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ลดความรุนแรงของโรคลง ในอเมริกา การติดเชื้อก็ไม่ได้ลดลง แต่ภาพรวมของทั่วโลกความรุนแรงลดลง
ภูมิต้านทานที่ดีที่สุดขณะนี้ คือภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จากการติดเชื้อ และจะดียิ่งขึ้นคือ ภูมิต้านทานแบบลูกผสม ฉีดวัคซีนร่วมกับการติดเชื้อ น่าจะป้องกันความรุนแรงของครั้งต่อๆไปได้ดียิ่งขึ้น
การศึกษาวิจัยขณะนี้ คงจะไม่อยู่ที่ศึกษาภูมิต้านทาน หรือประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะรู้อยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญที่ควรจะต้องรู้คือ ขณะนี้ประชากรไทย ติดเชื้อไปแล้วเท่าไหร่ (ฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไหร่เรารู้)
การเร่งกระตุ้นฉีดวัคซีนเข็ม 4, 5, 6 จะต้องพิจารณา (อาจจะให้ในเฉพาะกลุ่มเปราะบาง) เพราะวัคซีนแต่ละเข็มราคาไม่ถูกเลย และเป็นการฉีดวัคซีนสายพันธุ์เดิมอู่ฮั่น และถ้ามีการติดเชื้อมากแล้ว เช่น 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากร การฉีดวัคซีนต่อไป อาจรอได้ถึงปีหน้าหรือมีวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ ที่ตรงหรือใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุด
การลงทุนด้านวัคซีน เราได้ใช้เงินเป็นจำนวนมาก ด้วยความหวังเริ่มต้นว่าวัคซีนจะยุติการระบาดของโรค แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เราต้องการองค์ความรู้มาวางแผนในปีต่อไป ด้วยการใช้วิชาการนำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลงทุนน้อยที่สุด คุ้มค่าสำหรับประเทศไทย เราคงต้องมีข้อมูลของเราเอง ไม่ใช่เชื่อต่างชาติ
ผมและคณะที่ศูนย์ มีแผนการศึกษา ตอบคําถามว่าเวลานี้ประชากรทุกช่วงอายุ ติดเชื้อไปแล้วเท่าไหร่ โดยจะตรวจดูภูมิที่บอกการติดเชื้อ (anti-nucleocapsid) ไม่ใช่ภูมิต้านทานที่บอกในการป้องกัน (anti-spike) ในประชากรช่วงอายุต่างๆ โดยจำลองจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการ จะต้องหาเงินทุนมาสนับสนุน และผ่านคณะกรรมการจริยธรรมโดยเร็ว ถือเป็นงานท้าทาย เร่งด่วน ที่จะใช้วางแผน หลังการระบาดรอบใหญ่ของ covid 19 ที่จะผ่านไป เพื่อปีต่อไป จะได้มีการวางแผนที่ถูกต้อง
ที่มา : Yong Poovorawan