ชัชชาติ ส่งมอบอุปกรณ์กีฬาให้เด็กชุมชนคลองเตย ชี้ อยากให้หลายฝ่ายร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก เผย นั่งรถติดตามการเก็บขยะ เพื่อดูปัญหา เตรียมนำร่องแยกขยะ-จัดการปัญหาจริงจังตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้ได้ ส่วนค่าตอบแทน-ค่าเสี่ยงภัย อยู่ระหว่างพิจารณาให้เหมาะสม
วันนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ศูนย์กีฬาวัดคลองเตยใน 3 ชุมชนคลองเตยใน เพื่อนำอุปกรณ์กีฬา ทั้งลูกฟุตบอล ไม้แบดมินตัน รองเท้ากีฬา และอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนมามอบให้กับเด็กๆ ภายหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ผู้ว่าฯสัญจรในเขตคลองเตย แล้วพบว่า เด็ก ๆ ต้องการอุปกรณ์กีฬา และได้ร่วมเล่นกีฬากับเด็กๆ และแจกไอติมให้เด็ก ๆ ด้วย ซึ่งเด็ก ๆ ต่างดีใจ และขอบคุณลุงชัชชาติ
โดยชัชชาติ บอกว่า สำหรับ กทม.เองต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่อยากให้หลายฝ่ายได้มีส่วนร่วมกัน อาจจะไม่ต้องให้แต่สิ่งของแต่ช่วยเข้ามาดูแลมาทำกิจกรรมต่าง ๆ สร้างแรงบันดาลใจ เพราะความจริงแล้วอุปกรณ์ไม่ได้สำคัญที่สุด เท่ากับการสร้างแรงบันดาลใจ การมีส่วนร่วมให้กับเด็ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศสงครามกับฝุ่น ชี้อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิพื้นฐาน
"ชัชชาติ" จ่อเปิด OPEN DATA แจ้งพิกัด PM2.5 พร้อมเดินหน้าโครงการนักสืบฝุ่น
ชัชชาติ แนะตั้ง 3 คำถาม เผยกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ เตือน อย่าหลงรักคำตอบแรก
ส่วนกรณีที่ชัชชาติได้ลงพื้นที่ติดตามการเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ กทม. ตั้งแต่ช่วงกลางคืนที่ผ่านมานั้น มองว่า ขยะสำหรับประชาชนเหมือนของวิเศษที่ตอนเช้าทิ้ง ตอนกลางคืนหายไป เมื่อวานจึงอยากลองไปดู
ส่วนตัวรู้กระบวนการ แต่ไม่เคยติดตามไปกับรถเก็บขยะ ทั้งนี้จากที่เห็นรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่จะต้องเสียเวลามากกับการคัดแยกขยะที่ท้ายรถ ฉะนั้นแล้วหากเป็นไปได้ขยะต้นทางอยากให้มีการแยกขยะเปียกแห้งให้เรียบร้อย
แห้งแบ่งเป็นพวกรีไซเคิล เปียกแบ่งเป็นเศษขยะ สำหรับข้อดีที่จะเกิดขึ้นคือรถขยะ จะสามารถวิ่งทำรอบได้เร็วขึ้น และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจะปลอดภัยขึ้นด้วย
ซึ่งจากนี้ต้องพิจารณาว่าจะแยกขยะได้ไหม จัดการขยะรีไซเคิลได้อย่างไร รวมไปถึงอุปกรณ์ สวัสดิการสำหรับดูแลสวัสดิภาพที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานเพราะหลายคนทำงานหนัก มีความเสี่ยง จากที่ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวานนี้อยากสะท้อนให้เห็นว่า ขยะไม่ใช่ของวิเศษที่จะหายไปเอง แต่ต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ส่วนตัวมองว่าการพยายามลดขยะ รีไซเคิลขยะตั้งแต่ต้นทาง ยังเป็นวิธีที่ดีในการจัดการปัญหาขยะ
ชัชชาติยังบอกอีกว่า จะมีการนำร่องให้ได้ใน 1 เขตก่อน ถ้าทำได้ 1 เขตก็จะเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ได้ และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่เก็บขยะวานนี้ ขยะจำนวนมากมาจากคอนโด และโรงแรมขนาดใหญ่แต่สำหรับห้างสรรพสินค้าส่วนมากผ่านการขายขยะแล้วจึงไม่เยอะมาก
ส่วนเรื่องค่าตอบแทนของพนักงาน จากที่เคยมีการหารือร่วมกันเป็นหน้าที่ของจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่รับมอบหมายดูแลเรื่องนี้อยู่ คาดว่าจะเป็นการพิจารณาตั้งแต่ส่วนของพนักงานกวาด พนักงานขับรถ และเก็บขยะ เจ้าหน้าที่จัดการระบายน้ำ เพราะทุกหน้าที่นี้มีความเสี่ยงในการทำงานทั้งหมด จึงต้องดูแลให้เหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กทม. ให้บริการประชาชนอย่างละเอียด อย่างเจ้าหน้าที่เก็บขยะเองจะเดินเข้าไปตามหน้าบ้านเพื่อเก็บขยะ ซึ่งหลังจากนี้จะเจอกันครึ่งทาง และเป็นไปได้หรือไม่ ที่ทุกคนนำขยะมารวมกันที่จุดทิ้งตรงกลางอย่างน้อยเป็นการช่วยประหยัดเวลา แต่ต้องมีการพิจารณาต่อไป เพราะปัญหาทั้งหมดต้องแก้ตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง
ส่วนกรณีสถานการณ์โควิดใน กทม. ชัชชาติระบุว่า ขณะนี้เห็นว่ามีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ตามรายงานอาจจะไม่ได้เยอะเพราะรายงานเฉพาะที่เข้ารับการรักษา แต่จากการลงพื้นที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เมื่อวานนี้และได้พูดคุยกับหมอ พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 4-5พันคนต่อวัน แต่ส่วนใหญ่ก็หายได้เอง ทั้งนี้กังวลแค่กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ก็ต้องเฝ้าระวังอยู่
และเมื่อวาน โรงพยาบาลก็เตรียมห้องไอซียู และเตรียมสถานที่สำหรับผู้ป่วยสีเขียว ส่วนที่คลองเตยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็เตรียมจะเปิดศูนย์ CI ซึ่งจะมีความพร้อมประมาณ 300 เตียง