ศึกแดงเดือด ไปกับ AIS PLAY หลังศึกฟุตบอลสำคัญ การถ่ายทอดสดล่มไม่เป็นท่า นักวิชาการ-อดีต กสทช. มองสาเหตุอาจเป็นเพราะคนดูเยอะเกินความคาดหมาย ส่วนเรื่องเยียวยาตามกฎหมายก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องทางใจคงต้องใช้เวลา
ศึกแดงเดือด แดงทั้งสนามและแดงทั้งโลกออนไลน์เมื่อ AIS PLAY แพลตฟอร์ม OTT ทเพียงเจ้าเดียวที่สามารถดูออนไลน์การแข่งขัน "ศึกแดงเดือดในไทย" หรือ The Match Bangkok Century Thailand 2022 ล่ม
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าปัญหาเกิดจากการบริหารจัดการเทคโนโลยีในระบบหลังบ้านของ AIS เพราะ การทำแพลตฟอร์ม OTT เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตัวผู้ประกอบการและผู้ให้บริการเองก็ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าตนเองมีสมาชิกอยู่เท่าใดและต้องมีการรองรับการใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ๆ
ตัว AIS เองพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ก้าวล้ำนำสมัยอยู่ตลอดเวลา สังเกตได้จากการใช้พรีเซ็นเตอร์และคนดังมาสร้างการรับรู้ของแบรนด์ ทั้งในสื่อออนไลน์และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตอกย้ำความเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันตัวคู่แข่งเองที่อยู่ในธุรกิจบอกรับสมาชิกและเคเบิ้ลทีวีมาก่อนก็มองได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นการพลาดพลั้งทางเทคนิคของคู่แข่งตัวเอง
ดร.สิขเรศ มองว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้มองว่าตัวแบรนด์เองก็ได้รับความเสียหายค่อนข้างสูง จากก่อนหน้านี้ที่มีข่าวเรื่อง AIS กับ 3BB จากประชาชนที่ไม่ได้มีอคติกับแบรนด์ พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเลยทำให้หลายคนเกิดการตั้งคำถามถึงความเสถียร-ประสิทธิภาพของระบบ
"บทเรียนที่สำคัญจากเรื่องนี้คือจริงๆแล้วผู้บริโภคอาจไม่ได้ต้องการการชดเชย เพราะมันเป็นสิ่งท้ายๆที่ผู้บริโภคคาดหวัง แต่ผู้บริโภคต้องการความเสถียรสมรรถนะของการใช้งาน" ดร.สิขเรศ กล่าว
ส่วนตัวมองว่าตลอดเวลาการแข่งขันของศึกแดงเดือดถ้าหากไม่เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคจะกลายเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับ AIS ในการก้าวข้ามคู่แข่งที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มามากกว่า 10 ปี
"ถ้า AIS สามารถทำ 90 นาทีตลอดการแข่งขันเมื่อวานนี้สำเร็จก็จะเปรียบเหมือน AIS เป็น แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เพราะตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา เป็นรองลิเวอร์พูลมาตลอดซึ่งถ้าหาก AIS สามารถพลิกสถานการณ์ได้ AIS ก็จะเป็นต่อทันทีเหมือนกับการแข่งขันเมื่อวานนี้ แต่มันกลับกลายเป็นเหตุการณ์ แพ้คาบ้าน"
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
"OTT เป็นหลุมดำของการกำกับดูแล(ทางกฎหมาย)" ดร.สิขเรศ กล่าว
สำหรับ Over-the-Top (OTT) คือ บริการสื่อสาร แพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเอง
ดร.สิขเรศ มองว่า สิ่งที่สำคัญคือวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในงานบริหารจัดการแพลตฟอร์ม OTT วันนี้แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังอยู่ในรูปแบบกึ่งหรือไร้การดูแล เพราะหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ก็อาจจะเข้าข่ายอำนาจหน้าที่ในบางบริบท เพราะในเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้ว การเยียวยาเป็นสิ่งที่บริษัททำตามปกติ แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาลงโทษทางปกครองตามมา
การรล่มของระบบในครั้งนี้อยากให้มองเป็นบทเรียน ในการรับมือการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาที่สำคัญ ๆ เช่น การแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำลังจะถึงนี้ ดร.สิขเรศ มองว่ายอดการดูในวันที่มีการแข่งขันแมตช์สำคัญก็ไม่ได้แพ้กับศึกแดงเดือดที่ผ่านมา อย่ามองว่าเป็นเป็นความผิดพลาดของบริษัทใดบริษัทหนึ่งแต่ให้มองเป็นการเรียนรู้ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม OTT ของไทย
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช. มองว่า สำหรับการเยียวยาที่ AIS ทำถือว่า สมเหตุสมผลตามหลักกฎหมายแล้วก็คือหากวันไหนที่บริการของตนเองไม่ได้ เช่น อินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้บริการได้ ก็จะมีการชดเชยตามวันที่ไม่สามารถใช้บริการได้ ซึ่ง AIS Play และ AIS Fiber อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่ถ้าหากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่าง Netflix ที่บริษัทไม่ได้อยู่ในประเทศก็จะอยู่นอกเหนือการดูแลของ กสทช.
"ปัญหาของเรื่องนี้อาจจะไม่ได้อยู่ที่การชดเชยของ AIS ตามกฎหมาย แต่อยู่ที่การชดเชยทางใจกับผู้ที่สมัครมาใช้บริการเพราะเหตุการณ์เมื่อวานถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญของแฟนๆฟุตบอลหลายๆคนทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากนี้ AIS คงจะต้องหาทางเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้ใช้บริการขนาดไหน อย่างไร" อดีต กสทช. มอง
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ยกตัวอย่างว่า บังเอิญวันนั้น เขาตัดสินใจซื้อบริการอินเทอร์เน็ต 30 วัน แต่วันสำคัญที่ต้องการใช้ดันใช้ไม่ได้มันก็จะเสียความรู้สึกค่อนข้างมากกว่าการเยียวยาแค่ 1 วัน
ขณะเดียวกันส่วนที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทชคือผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะต้องวางโครงข่ายให้เำียงพอต่อจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเมื่อวานเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายว่าระบบของตนเองเพียงพอต่อการใช้งานจำนวนมากหรือไม่เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะหน่วยงานเอกชนแต่ควบรวมถึงภาครัฐด้วย