svasdssvasds

วิกฤตซ้อนวิกฤต ปัญหาเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงสงครามโลกครั้งที่สาม ?

วิกฤตซ้อนวิกฤต ปัญหาเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงสงครามโลกครั้งที่สาม ?

สงคราม เศรษฐกิจ วิกฤตซ้อนวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น และแนวโน้มจะเป็นเช่นไรหากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อออกไป ? แล้วมีโอกาสจะลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สามได้หรือไม่ ?

จากการที่สวีเดนกับฟินแลนด์ จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้อย่างเป็นทางการ โดย ดร.อดุลย์ กำไลทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย ได้แสดงความคิดเห็นในรายการสุดกับหมาแก่ว่า นี่คือช่วงเวลาของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อ่อนไหวที่สุด ที่อาจนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สามได้ !!!

รวมถึงการวิเคราะห์ 4 ปัจจัยเสี่ยงทางวิกฤตเศรษฐกิจไทย จาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร และ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ปัจจัยใดจะส่งผลกระทบมากที่สุด และต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมืออย่างไร ?

ปัจจัยที่ทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนขยายวงกว้าง กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม

ดร.อดุลย์ กำไลทอง กล่าวว่า หากเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และครั้งที่สอง จุดเริ่มต้นของสงครามจะเกิดขึ้นที่ยุโรปตะวันออก ในช่วงที่โลกประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และหากสงครามโลกครั้งที่สามเกิดขึ้น ก็ต้องถือว่า การที่ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ เป็นปัจจัยเสริมที่เข้ามาเร่งเร้า ส่วนสารตั้งต้นก็ยังคงเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในยุโรปตะวันออก

แต่ทั้งนี้ ดร.อดุลย์ กำไลทอง ก็คาดว่า การเข้าร่วมนาโต้ของสวีเดนกับฟินแลนด์ มีแนวโน้มอาจทำให้เกิดสงครามใหญ่ แม้ยังเป็นเรื่องยากที่จะลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ซึ่งเมื่อโฟกัสในสถานการณ์ปัจจุบัน หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ ถ้าอิงบทวิเคราะห์ของสื่อรัสเซีย ประเทศที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือสหรัฐฯ และพันธมิตร แต่ถ้าสงครามขยายวงกว้างออกไป จนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม ย่อมส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย ฉะนั้นแล้วการลดเงื่อนไขการปะทะ ลดการสุมเชื้อไฟ ก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่จะไม่ทำให้สงครามลุกลามขยายวงกว้างออกไป

วิกฤตซ้อนวิกฤต ปัญหาเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงสงครามโลกครั้งที่สาม ?

ปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย

ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ 4 ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้แก่ 1. ดอกเบี้ย 2.น้ำมัน 3.ค่าเงินบาท และ 4. การเมือง ว่า ทั้งดอกเบี้ย น้ำมัน และค่าเงินบาท เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อมโยงกัน สืบเนื่องมาจากปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ต้องมีนโยบายขึ้นดอกเบี้ย

และจากการที่เงินดอลล่าร์สหรัฐมีอิทธิพลสูง ทำให้หลายประเทศต้องทยอยขึ้นดอกเบี้ยตาม แต่กรณีของไทยการขึ้นดอกเบี้ยกลับเป็นไปอย่างล่าช้า และมีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยกับประเทศอื่นค่อนข้างสูง ทำให้เงินไหลออก ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อน และเมื่อค่าเงินบาทอ่อน ก็ทำให้ไทยต้องซื้อน้ำมันในราคาที่แพงขึ้น 

ฉะนั้นแล้ว ทั้งดอกเบี้ย น้ำมัน ค่าเงินบาท จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผูกโยงกัน ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ก็จะเกิดปัญหาการเมืองตามมา ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลมากที่สุด ดร.ศุภวุฒิ เห็นว่าคือเรื่องดอกเบี้ย

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงที่ผูกโยงกัน ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และมีความเห็นเช่นเดียวกับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ว่าดอกเบี้ยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลที่สุด

โดยปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลรองลงมาก็คือ เรื่องน้ำมัน และค่าเงินบาท ตามลำดับ ส่วนการเมืองในเวลานี้ ยังถือว่าเพียงปัจจัยซ้ำเติม แต่ถ้าเกิดปัญหาเรื่องการเมืองขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

ติดตามรายการสุดกับหมาแก่ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ดำเนินรายการ เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 21.30 น. ทาง Facebook : SpringNews , YouTube : Spring เเละ Nation TV 22

วิกฤตซ้อนวิกฤต ปัญหาเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงสงครามโลกครั้งที่สาม ?

related