มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจงผลงานวิจัยสัตว์แพร่โควิดสู่คนหลัง “แมวจามใส่หน้าคน” ทำติดโควิด คาดเป็นเคสแรกของโลก พบแมวติดเชื้อมาจากเจ้าของ ก่อนจามใส่สัตวแพทย์ที่ตรวจหาเชื้อ ชี้ยังถือว่ามีความเสี่ยงโดยรวมต่ำอยู่
สื่อชื่อดังของสหรัฐฯ นิวยอร์ค ไทมส์ อ้างรายงานผลการศึกษาในประเทศไทย พบว่า คนติดเชื้อโควิด-19 จาก ‘แมว’ เมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นเคสแรกที่พบการติดเชื้อจากแมวสู่คน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากแมวในภาพรวม ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
ล่าสุดวันที่ 20 มิ.ย. 65 รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ได้แถลงในรายละเอียดว่า เคสนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 64 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโควิด 19 เป็นพ่อลูกชาวกรุงเทพฯ อายุ 64 ปี และ 32 ปี แต่เตียงมีไม่พอที่รักษา จึงประสานที่จะเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากมีญาติอยู่ที่หาดใหญ่ด้วย และเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกันมา 2 คน พ่อลูก พร้อมกับแมวที่เลี้ยงเอาไว้ด้วย 1 ตัว เป็นแมวไทย สีส้ม อายุ 10 ปี
จากนั้นในวันที่ 8 ส.ค.64 จึงนำตัวผู้ป่วยทั้ง 2 คน เข้าสู่กระบวนการรักษาในหอผู้ป่วยโควิดของ ม.อ. ส่วนแมวนั้นได้ส่งไปให้ทางสัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ตรวจหาดเชื้อโควิด ในวันที่ 10 ส.ค.64 โดยการแยงจมูก และตรวจทวารหนัก โดยสัตว์แพทย์และทีมงานรวม 3 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เช็กเงื่อนไข ทุกคำถาม ก่อน ถอดแมสก์ พร้อมกัน 1 ก.ค. นี้ทั่วประเทศ
โควิดวันนี้ 20 มิ.ย. 65 ยอดติดเชื้อรายใหม่ 1,784 ราย เสียชีวิต 18 ราย
แต่ปรากฏว่า ในระหว่างทำการตรวจอยู่นั้น แมวได้เกิดจามออกมาในช่วงที่กำลังเก็บสิ่งส่งตรวจ และโดนสัตวแพทย์หญิงท่านหนึ่งอายุ 32 ปี ซึ่งในขณะนั้นสวมเครื่องป้องกันแค่ถุงมือ และหน้ากากอนามัย ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันดวงตาแต่อย่างใด
ซึ่งหลังจากนั้นผลตรวจของแมวพบว่า เป็นบวกมีเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า ส่วนสัตวแพทย์หลังจากตรวจแมวได้ 3 วัน ในวันที่ 13 สิงหาคม 64 เริ่มมีอาการไข้ ไอ และน้ำมูก และในวันที่ 15 ส.ค. 65 ก็ตรวจพบเชื้อโควิด 19 และเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยทั้งหมดทั้งคู่พ่อลูก แมวและสัตวแพทย์อาการไม่หนักมาก และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้หลังรักษาตัวอยู่เกือบ 10 วันประมาณปลายเดือนสิงหาคม 64 และจากการติดตามทั้งคนและแมวปลอดภัย แข็งแรงดี ไม่มีอาการข้างเคียง หรือโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวอีกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นได้มีตั้งสมมติฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้นแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยพบความเชื่อมโยงอยู่ 2 อย่างคือระยะการฟักตัวของโรค โดยในคนเชื่อจะอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ในสัตว์ประมาณ 5 วัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามช่วงเวลา
และอีกส่วนคือการตรวจลำดับเบส และรหัสพันธุกรรม จากทั้งคู่พ่อลูกเจ้าของแมว แมวและสัตว์แพทย์ พบว่าตรงกัน
นอกจากนี้ยังมีการตรวจเทียบเคียงกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 คลัสเตอร์ใหญ่ๆ หลายจุดใน จ.สงขลา เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่า แมวอาจรับเชื้อมาจากชุมชนหรือแหล่งอื่นหรือไม่แต่พบว่าไม่ตรงกัน
จึงได้ข้อสรุปว่า แมวนั้นติดเชื้อโควิด 19 มาจากเจ้าของที่คลุกคลีกันมาตลอด และเจ้าของเองก็ไม่ทราบว่าแมวนั้นติดเชื้อโควิด 19 ไปแล้ว ก่อนที่จะแพร่เชื้อไปยังสัตวแพทย์ ที่ทำกาตรวจ เนื่องจากแมวได้จามออกมาใส่โดยตรง ซึ่งสัตวแพทย์ไม่ได้สวมเครื่องป้องกันทั้ง face shield และเครื่องป้องกันดวงตา จึงรับเชื้อเข้าไปเต็มส่วนทีมงานอีก 2 คน นั้นปลอดภัย เนื่องจากไม่ได้อยู่ใกล้
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยการแพร่เชื้อโควิด 19 จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงในต่างประเทศมาบ้างแล้ว แต่การแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงคือแมวไปสู่คนนั้น เคสนี้น่าจะเป็นเคสแรกที่มีการนำเสนอออกมาเป็นงานวิจัย
มีข้อเสนอแนะสำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว หากสงสัยว่าตนเองอาจะตกเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือคาดว่าได้รับเชื้อโควิด 19 ให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงไปก่อนประมาณ 7-8 วัน เพื่อความปลอดภัย เพราะสัตว์เลี้ยงเมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ และเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่น้อยกว่าคนประมาณ 5 วันและหายไปเองได้
อย่างไรก็ตามการที่สัตว์เลี้ยงจะแพร่เชื้อไปสู่คนนั้นยากมากหรือน้อยมากเช่นเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่จะมาจากการไอ จาม น้ำมูก และอุจจาระ ซึ่งสิ่งเหล่านี้น้อยมากที่คนจะได้สัมผัส และเมื่อสัมผัสส่วนใหญ่ก็ล้างทำความสะอาดกันในทันทีอยู่แล้วด้วย
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวด้วยว่า งานวิจัยดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับโควิด 19 ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง แต่ยังถือว่าพบได้น้อยมาก แค่ขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและอย่าใช้เรื่องเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการไม่ดูแลสัตว์เลี้ยง หรือเอาสัตว์เลี้ยงไปปล่อย เพราะความเข้าใจผิดๆ
ส่วนการจะมีหรือผลิตวัคซีนเพื่อใช้สำหรับป้องกันโควิด 19 ในสัตว์เลี้ยงหรือไม่นั้น ทางทีมวิจัยไม่ได้มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่หากพบการระบาดในสัตว์เลี้ยงเป็นวงกว้าง ทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็อาจจะเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป