svasdssvasds

มารู้จักโรคงูสวัด ภัยใกล้ตัวที่อันตรายถึงชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน

มารู้จักโรคงูสวัด ภัยใกล้ตัวที่อันตรายถึงชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน

โรคงูสวัด ที่หลายๆคนเคยได้ยินว่าหากเกิดตุ่มใส่ลามไปรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตได้ จึงมีคนไม่ใช่น้อยที่กลัวโรคนี้มากๆ วันนี้เราจะพามารู้จักกับโรคงูสวัดให้มากขึ้นว่าจริงๆแล้วความอันตรายของมันมีมากแค่ไหนและต้องป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดโรคนี้

โรคงูสวัดคืออะไร

โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย เมื่อเวลาที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เชื้อที่แฝงตัวอยู่ก็จะออกมาที่ผิวหนังตามแนวเส้นประสาท ผื่นงูสวัดมักจะเกิดขึ้นบนผิวหนังตามแนวเส้นประสาทของร่างกายตามลำตัว หน้าอก แผ่นหลัง หน้า และคอ น้อยคนจะเป็นที่ฝ่ามือ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักจะเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน

 

อาการของโรคงูสวัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 เป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เชื้อไวรัสจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อน โดยหาสาเหตุไม่ได้

ระยะที่ 2 เมื่อมีอาการแสบร้อนโดยหาสาเหตุไม่ได้ประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มปรากฏผื่นแดงขึ้น และกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงตัวกันเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทของร่างกาย เช่น ตามความยาวของแขน รอบเอว รอบหลัง ใบหน้า ต้นขา เป็นต้น ต่อมาตุ่มน้ำใสนั้นจะแตกออกเป็นแผล จากนั้นจะตกสะเก็ด แล้วจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ และอาจมีไข้ร่วมด้วย

ระยะที่ 3 แม้แผลจะหายดีแล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อนอยู่ตามรอยแนวของแผลที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดอาการปวดประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด ซึ่งจะปวดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนหลังจากที่ตุ่มใสเริ่มเกิดขึ้น

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดงูสวัด

-เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน

-อายุ 60 ปีขึ้นไป

-เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

-คนที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น

พันรอบเอว หรือรอบตัวแล้วจะเสียชีวิตจริงหรือไม่

มีความเชื่อมาตั้งแต่อดีตว่าหากเป็นงูสวัด แล้วผื่นที่ขึ้นนั้นพันรอบเอว หรือรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตทันที ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะแท้ที่จริงแล้วแนวเส้นประสาทของคนเราจะสิ้นสุดที่กึ่งกลางลำตัว จึงพบว่าสามารถเป็นงูสวัดได้เพียงครึ่งหนึ่งของลำตัวเท่านั้น

แต่ความเชื่อที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะในสมัยโบราณยังไม่มีการคิดค้นยาฆ่าเชื้อไวรัสทำให้ผู้ที่เป็นงูสวัด หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง โรค HIV เกิดภาวะติดเชื้อ ซึ่งเชื้องูสวัดจะลุกลามไปยังเส้นประสาททั่วร่างกายทำให้มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ง่าย แต่การเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดจากอวัยวะภายในล้มเหลว ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคงูสวัด

 

การรักษาโรคงูสวัดที่ถูกต้อง

-รักษาตามอาการ เช่น หากมีอาการปวดแพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวด ถ้าตุ่มติดเชื้อจนกลายเป็นหนองแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

-ให้ยาต้านไวรัส หากผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์ให้รับประทานยาต้านไวรัส เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น

-ให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต้องได้รับการรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดทาน และยาหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

 

การป้องกันงูสวัด

-ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอเพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

-ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดจำนวน 1 เข็มเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคงูสวัด และลดความรุนแรงของโรคได้

-หากยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ หรือไม่ควรสัมผัสแผลของผู้ป่วยโรคงูสวัด

-โรคงูสวัดเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ในปัจจุบันเราสามารถป้องกันโรคนี้ง่าย ๆ ด้วยการฉีดวัคซีนที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคร้ายนี้ได้

 

ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเพชรเวช

related