ดร.อนันต์ เผย 'ฝีดาษลิง' ความท้าทายใหม่ เทียบ อีสุกอีใส ไม่ได้ ชี้ผู้ป่วยในระยะแพร่เชื้อได้จะยังไม่มีอาการชัดเจน คาดมีการแพร่กระจายในประชากรมนุษย์มาได้สักพัก และ ตอนนี้น่าจะไปอยู่ในหลายพื้นที่ อาจต้องกลับมาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษอีก
วันที่ 20 พ.ค. 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เปรียบเทียบ ฝีดาษลิง กับ อีสุกอีใส โดยระบุว่า...
ประเด็นเรื่องของ Monkeypox หรือ ฝีดาษลิง ที่พบเจอเคสเพิ่มขึ้นในยุโรปอาจจะเป็นความท้าทายใหม่ของนักไวรัส เพราะปกติไวรัสที่มีความรุนแรงระดับนี้ ผู้ป่วยจะต้องมีอาการชัด โดยเฉพาะทางกายภาพบริเวณผิวหนัง ถ้าการติดเชื้อแพร่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ หรือ การสัมผัสใกล้ชิดตามข้อสังเกตจริงๆ แสดงว่าผู้ป่วยในระยะแพร่เชื้อได้จะยังไม่มีอาการอะไรชัดเจน หรือยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย...ตอนนี้เริ่มมีคนเอาฝีดาษลิง ไปเปรียบกับไวรัสอีสุกอีใส ซึ่งแพร่กระจายได้ไวมากในอากาศ อีสุกอีใส เรียกว่า Chickenpox ก็จริง แต่ไม่ใช่ Poxvirus เหมือน ฝีดาษลิง... ไวรัสอีสุกอีใสตัวที่แพร่ไวในอากาศได้เป็นตระกูล herpes virus ซึ่งไม่ใช่ Poxvirus เอามาอนุมานเทียบกันไม่ได้ครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ดร.อนันต์ ยังโพสต์ต่ออีกว่า Monkeypox virus ที่เป็นข่าวพบในหลายประเทศในยุโรป และ ล่าสุดอีก 13 เคสในแคนาดา โดยที่แต่ละเคสไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นไปได้ว่าไวรัสมีการแพร่กระจายในประชากรมนุษย์มาได้สักพักแล้ว และ ตอนนี้น่าจะไปอยู่ในหลายพื้นที่ จำนวนเคสคงจะมีรายงานมากขึ้น
ไวรัสชนิดนี้จริงๆมี 2 ชนิด แบ่งได้ตามความรุนแรง ตัวที่พบกระจายอยู่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์รุนแรงน้อย อัตราเสียชีวิตประมาณโควิด-19 ส่วนตัวที่รุนแรงมากยังเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกาซึ่งความรุนแรงจะสูงกว่าเทียบเท่ากับ SARS-CoV ตัวแรก โดยข้อมูลทางไวรัสวิทยา Monkeypox virus เป็น ตระกูลเดียวกับไวรัส smallpox ที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ในอดีต ปัจจุบันไม่พบไวรัสตัวนี้ในธรรมชาติแล้ว แต่ ตัวเชื้อยังมีเก็บรักษาไว้ในห้องแล็บที่มีความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจาก smallpox เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ไว แพร่ทางอากาศได้ ทำให้มีคนอนุมานต่อว่า Monkeypox จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน ซึ่งข้อสรุปอันนี้เป็นการคาดการณ์ที่ไม่มีหลักฐานจริงยืนยัน
Monkeypox มีมาตั้งแต่ช่วง 1950 พบติดเชื้อในคนได้ แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะ ช่วงนั้นมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษกัน ข้อมูลจากประเทศไนจีเรียพบว่ามีการระบาดของ Monkeypox ในปี 2017 ในประชากรมนุษย์ประมาณ 70 คน หลังจากที่ไม่เคยพบการติดเชื้อในประเทศมาหลายสิบปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะภูมิคุ้มกันในประชากรที่ฉีดวัคซีน หรือ ปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษในช่วงหลายสิบปีก่อน โดยภูมิจากวัคซีนดังกล่าวป้องกัน Monkeypox ได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากวัคซีนไข้ทรพิษไม่ได้มีการฉีดกันมานาน และ ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ก็ตกลง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้ Monkeypox สามารถกระโดดเข้ามาในประชากรมนุษย์ได้อีก...ข้อมูลตอนนี้ยังไม่มาก เชื่อว่าไวรัสคงออกมาแล้วและไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้างครับ ไม่แน่เราอาจจะต้องกลับมาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกันอีกรอบ