"หมอธีระ" เผยผลวิจัย เด็กเล็กติดโควิด-19 พบปัญหาค่าเอนไซม์ในตับสูงขึ้น ผลกระทบตามมาระยะยาวหลังการติดเชื้อ รอผลการศึกษา ว่าเกี่ยวข้องกับการระบาดตับอักเสบหรือไม่
เด็กติดโควิดกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงต้องเฝ้าระวังอีกครั้งหลังยอดผู้ติดเชื้อแต่ละวันสูงขึ้น การระบาดในระลอกนี้พบว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มเด็กมากขึ้น
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ประเด็น การติดเชื้อโรคโควิด-19 กับความผิดปกติของตับในเด็กเล็ก โดยระบุว่า
ทีมวิจัยจากโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาในเด็กอายุ 1-10 ปี จำนวนถึง 796,369 คน โดยมีเด็ก 245,675 คนที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคม 2020 ถึงมีนาคม 2022
เปรียบเทียบกับเด็ก 550,694 คนที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ผลการศึกษาพบว่า แม้จะผ่านไปแล้วนานถึง 6 เดือน เด็กที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 นั้นจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาค่าเอนไซม์ตับสูง มากกว่ากลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ถึง 2.52 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.03 เท่า-3.12 เท่า)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ดร.อนันต์ เปิดข้อมูล เด็กติดโควิดรอบ 2 ตรวจ ATK น้ำลายเป็นลบ เพาะเชื้อเจอ BA.2
• เช็กเลย! ผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กติดโควิด-19 ควรทำอย่างไรบ้าง
• เด็กติดโควิดมากขึ้น ผู้ใหญ่ต้องเตรียมความพร้อมด้านไหน ยังไง
จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาค่า total bilirubin สูง มากกว่ากลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ ถึง 3.35 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.16 เท่า-5.18 เท่า)
งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในเด็ก ว่าจะเกิดผลกระทบตามมาระยะยาวหลังการติดเชื้อ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวจะเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ของการติดเชื้อโรคโควิด-19 กับปัญหาภาวะตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็กที่พบทั่วโลกขณะนี้หรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
Kendall EK et al. Elevated liver enzymes and bilirubin following SARS-CoV-2 infection in children under 10. 14 May 2022
ที่มา : Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)